“ก้าวไกล” เดือดจัด โดนฉีกหน้าปัดตก “ญัตติขบวนเสด็จ” หลังต้องการช่วย ผู้กระทำความผิด

1519

หลังจากเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ทำหนาที่เป็นประธานการประชุม ภายหลังเปิดให้หารือปัญหาความเดือดร้อนแล้ว

ทางด้านน.ส.วรรณวลี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ขอเสนอญัตติด้วยวาจา ขอเลื่อนวาระการประชุมในวันที่ 2 ธ.ค. ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยให้สภาพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จและการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 หลังจากลงมติ ญัตติการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร และก่อนเรื่องรับทราบรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ทำให้นายอรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล อภิปรายว่า จากที่สมาชิกขอเปลี่ยนระเบียบวาระวันที่ 2 ธ.ค. ถ้าย้อนกลับไปสัปดาห์ที่แล้ว เรื่องนี้เราพิจารณากันจบแล้ว คือการพิจารณาญัตติด่วนเรื่องเอ็นเตอร์เทนเม้นคอมเพล็กซ์ ดังนั้น ตนไม่เห็นด้วยจะให้เลื่อนญัตติแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จและการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระราชินี มาพิจารณา และเชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เลื่อนญัตติขบวนเสด็จฯกลับเข้ามาพิจารณาก่อนด้วยจำนวน 246 ต่อ 45 และงดออกเสียง 6 เสียง

ล่าสุดในเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ได้เคลื่อนไหว โพสต์ข้อความถึงเรื่องนี้ว่า 1 ปีที่รอการพิสูจน์ความจริง ‘กรณีขบวนเสด็จฯ’ ก้าวไกล ยืนยัน เดินหน้าตรวจสอบความจริงคืนความยุติธรรมให้ประชาชน และชี้แจงว่าเหตุผลที่วรรณวรีชี้แจงกับสภามี 3 ข้อ

ข้อแรก ประชาชนถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 110 ซึ่งมีโทษร้ายแรงถึงประหารชีวิต ซึ่งสภาแห่งนี้ จำเป็นต้องร่วมกันสืบหาข้อเท็จจริง เพื่อธำรงความยุติธรรมให้กับประชาชน

ข้อที่สอง การถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรมีการถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงมาตรการการถวายการอารักขา ให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น

ข้อสุดท้าย ญัตติด่วนขบวนเสด็จ เป็นญัตติด่วนในลำดับแรก หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ยอมพิจารณาเสียที ก็จะทำให้ญัตติด่วนอื่นๆ เช่น ญัตติในการตรวจสอบการสลายการชุมนุม และญัตติในการตรวจสอบการบิดเบือนการใช้กฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมกับผู้ต้องขังทางการเมือง ไม่ได้รับการพิจารณาไปด้วย แต่น่าเสียดาย ที่ญัตตินี้กลับถูกปัดตกไปด้วยคะแนน 45 ต่อ 246 เสียง เมื่อเสียงของเรายังไม่ดังพอ นักโทษการเมืองที่ถูกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีก็ยังต้องรอต่อไป

ทั้งนี้ประเด็นของเรื่องขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 อัยการได้สั่งฟ้อง “เอกชัย” กับพวก ในคดีประทุษร้าย-กีดขวางขบวนเสด็จฯ ก่อนยื่นหลักทรัพย์คนละ 3 แสนบาทประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตทั้งมดโดยไม่ตั้งเงื่อนไข แม้ว่าทางด้านนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง หรือ ฟรานซิส นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้อ้างว่า ไม่มีความประสงค์ หรือความพยายามที่จะกระทำตามข้อกล่าวหา และเรายืนยันในความบริสุทธิ์มาตลอด แต่หลังจาก 5 เดือนผ่านไป อัยการได้ตัดสินใจเตรียมส่งคดีฟ้องต่อศาลอาญา และจะเป็นช่วงการดำเนินการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อไป ถ้าหากไม่สำเร็จ พวกเราทั้ง 5 คน จะต้องถูกขังทันที

สำหรับคำฟ้องคดีระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า กลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยเวลาประมาณ 14.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ตลอดเส้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ตั้งเครื่องกีดขวางหลายจุด ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนซึ่งมีจำเลยที่ 1-5 รวมอยู่ด้วย ได้แยกตัวออกมาจากขบวน เดินล่วงหน้าไปรวมตัวกันที่ ถ.พิษณุโลก ใกล้ทำเนียบรัฐบาลเพื่อรอขบวน
จำเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันเดินเข้าไปขวางเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน โดยช่วยกันใช้กำลังผลักดันแถวแนวหน้าตำรวจควบคุมฝูงชนที่กำลังเคลื่อนเดินหน้านำขบวนเสด็จไปยังเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อขัดขวางไม่ให้ขบวนเสด็จสามารถเคลื่อนผ่านขึ้นสะพานชมัยมรุเชฐไปยังแยกนางเลิ้งได้ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการนำ จำเลยที่ 2-5 กับพวก เดินเข้าไปขัดขวางเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน โดยร่วมกันใช้กำลังผลักดันแถวหน้าตำรวจควบคุมฝูงชนไม่ให้นำขบวนเสด็จพระราชดำเนินเคลื่อนที่ขึ้นไปข้างหน้าได้