สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมีทิศทางเป็นบวกอย่างชัดเจน ธนา่คารแห่งประเทศไทยเล็งปรับประมาณการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่แอบลุ้นจีดีพีปี’64 โตสูงกว่า 0.7% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อานิสงส์ผ่อนคลายมาตรการคุมระบาด-เร่งฉีดวัคซีน-มาตรการรัฐหนุนเต็มสูบพร้อมจับตา “โอไมครอน” โดยขอเวลาประเมิน เบื้องต้นคาดกระทบเศรษฐกิจปีนี้ไม่มาก
วันที่ 1 ธ.ค. 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ยังประเมินว่าแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 จะยังขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 0.7% หรือมากกว่าเล็กน้อย หลังจากที่จีดีพีในไตรมาส 3/2564 ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ภาพผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนต่อเศรษฐกิจ ณ วันนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เบื้องต้นมองว่ากว่าที่โอไมครอนจะเห็นผลหรือมีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้คงไม่เยอะมาก อาจจะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจนขึ้นในปีหน้า ซึ่งทั้งหมดยังต้องการเวลาในการพิจารณาก่อน โดยเบื้องต้นคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป น่าจะเห็นภาพดังกล่าวที่ชัดเจนขึ้น
“ในแง่ผลกระทบจากการระบาดของโอไมครอน อย่างแรกคงต้องดูว่ามีความรุนแรงมากน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างไร และหากมีการแพร่กระจายก็อาจจะไม่ใช่เรื่องของการแพร่ระบาด แต่เป็นเรื่องมาตรการที่จะเข้ามาดูแล ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายคงจับตามองพัฒนาการของเรื่องนี้ โดยยังต้องขอเวลาในการประเมินภาพให้ชัดเจนก่อน แต่ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ ธปท. จับตาดูอยู่” นางสาวชญาวดี กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าต่อเนื่องทำให้กิจกรรทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยฟื้นตัว ประกอบกับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวที่ 1.3% ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับลดลงหลังจากที่เร่งขึ้นในเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด ตาม 1) อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว 2) สถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงานในไทยที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และ 3) ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คลี่คลายลงบ้าง
นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการลดจำนวนวันกักตัวเหลือ7 วัน และสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ดีขึ้แต่ภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ต.ค. 2564 พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.6 แสนคน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564ประกาศใช้ล่าช้า และการเบิกจ่ายในปีนี้ของหน่วยงานภาครัฐที่ทำได้ค่อนข้างดี
นอกจากนี้ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากที่เร่งตัวในเดือนก่อนหน้า โดยติดลบ 1.2% แต่ภาพรวมยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งฝั่งการผลิตและบริการ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 2.38% ตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ที่0.21% ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ต.ค.อ่อนค่าลงในช่วงต้นเดือน ก่อนจะทยอยปรับแข็งค่าขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นหลังการแถลงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนเดือน พ.ย.2564เงินบาทยังแข็งค่าขึ้น โดยยังคงเป็นผลต่อเนื่องจากการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิด-19ที่คลี่คลาย ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตามในเดือน พ.ย. 2564 ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงปัญหาซับพลาย ดิสรัปชัน (supply disruption) ทั้งการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ สถานการณ์ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง