จากที่ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ พร้อมด้วยนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ ประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาเพื่อฟังคำสั่งฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุด ในคดีตามความผิด มาตรา 112 นั้น
ทั้งนี้จากในคดีความมาตรา 112 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งในวันนี้อัยการมีคำสั่งฟ้องโดยนำสำนวนและผู้ต้องหาไปที่ศาลอาญา ขณะที่นายปิยรัฐ ถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องเวรชี้ใต้ถุนศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกเพื่อทนายความจะได้ยื่นเรื่องขอประกันตัวต่อไป
ต่อมาเวลา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 18.09 น.ของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญาให้ประกัน โตโต้ ปิยรัฐ อดีต ผอ.วีโว่ ในวงเงิน 1 แสนบาท แต่ไม่ต้องวางหลักประกัน เนื่องจากจำเลยมีการวางหลักประกันไว้ในหลายคดี โดย ศาลได้วางเงื่อนไขการประกันครั้งนี้ 1 ข้อ คือ ห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์
สำหรับคดีเกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงการใช้เงินภาษีของสถาบันพระมหากษัตริย์ของนายปิยรัฐ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีนายนพดล พรหมภาสิต ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบูลลี่ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่านายปิยรัฐ และทนายความได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท)
ขณะในวันเดียวกันนี้เฟซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า
“ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทนาย นรเศษรฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่กรุณามาทำเรื่องประกันตัวให้ จนลุล่วงเป็นผลแล้วเสร็จเมื่อเวลา 18:25 น.วันนี้ โดยมีเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวคือ ห้ามกระทำการอันจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ฯ โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์เพิ่ม
เมื่อก้าวออกจากประตูศาลมา พี่ๆผู้สื่อข่าวถามว่า “รู้สึกอย่างไรบ้างกับผลการประกันตัว” ผมเรียนต่อพี่ๆสื่อจากใจจริงว่า ผมไม่ได้รู้สึกยินดียินร้ายต่อผลคดีของตนเองในวันนี้หรือวันไหนๆเลย ตราบใดที่อีกหลายคนยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเช่นเดียวกันนี้ ผมจึงได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานนี้โดยเร็ววัน”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นายปิยรัฐ ให้ทนาย โทร.ประสานพนักงานอัยการ เจ้าของสำนวน ขอเลื่อนโดยอ้างว่า ตนเองป่วย ซึ่งทางพนักงานอัยการได้แจ้งกลับไปว่า ถ้าหากมีการอ้างว่าป่วย จะต้องมีการยื่นคำร้องเข้ามา พร้อมกับแนบใบรับรองแพทย์ว่าป่วยจริง เพื่อที่อัยการจะได้พิจารณา ซึ่งถ้าหากการยื่นคำร้องมีเหตุสมควร หรือเหตุจำเป็น มีหลักฐานครบ ในทางปฏิบัติก็จะใช้ดุลพินิจในการเลื่อน แต่ถ้าหากไม่ดำเนินการตามขั้นตอน จนหมดเวลาราชการในวันนี้ ทางพนักงานอัยการก็อาจจะมองว่า เป็นการประวิงคดี ไม่มีเหตุผลสมควร กรณีนี้อาจจะไม่ให้เลื่อน โดยแจ้งพนักงานสอบสวนให้ออกหมายจับ
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อมาว่า เวลา 13.45 น.ทนายความของ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้ ปิยรัฐ” ได้ให้เสมียนทนายความนำเอกสารใบรับรองแพทย์ ของ “โตโต้” มาส่งมอบให้อัยการ แต่เนื่องจากเอกสารที่นำมายังขาดหนังสือมอบอำนาจจึงให้ดำเนินการให้ครบถ้วน เบื้องต้นทางอัยการจึงปฏิเสธการรับเอกสารไว้ กระทั่งเวลา 14.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากอง 8 จึงได้เดินลงมารับเอกสารดังกล่าว พร้อมให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการ เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน