เปิดลึกแนวคิด!?กุนซือใหญ่ข้างกายสี จิ้นผิง อ่านขาดธาตุแท้มะกัน “อเมริกาต้านอเมริกา”

1773

ซุนวูที่เขียนหนังสือ ตำราพิชัยสงครามหรือ ดิอาร์ต ออฟ วอร์ (The Art of War) เคยกล่าวประโยคที่โด่งดังมาแล้วว่า “หากเรารู้ทั้งฝ่ายข้าศึกและฝ่ายเรา แม้จะรบสักร้อยครั้ง ก็ไม่เสี่ยงที่จะพ่ายแพ้”  ดังนี้นถ้าต้องการจะเข้าใจผู้นำจีน ปธน.สี จิ้นผิง ก็ต้องเข้าใจแนวความคิดของเขาว่าเป็นมาอย่างไร 

และบุคคลที่โลกตะว้นตก กำลังจับตามองคือ หวัง ฮูหนิง กุนซือใหญ่ข้างกายผู้นำจีน ปธน.สี จิ้นผิง ผู้ที่มีความเข้าใจสหรัฐ ประเทศที่เป็นคู่แข่งของจีนอย่างแตกฉาน  ทำให้สหรัฐฯต้องตระหนักว่า มีคนที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจของจีน เข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของสหรัฐฯเป็นอย่างดี เขาเขียนหนังสือชื่อว่า America Against America ได้รับการยอมรับว่า เป็นการเขียนวิจารณ์อเมริกาอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดในยุคนี้

ในการประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 19 ครั้งที่ 6 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับรองมติเรื่อง ความสำเร็จที่สำคัญและบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนความสำเร็จของพรรคในยุคสมัยใหม่ นับจากการประชุมสมัชชาแห่งชาติของพรรคครั้งที่ 18 ในปี 2012 เป็นต้นมา

มติการประชุมครั้งนี้ ได้สรุปความสำเร็จที่สำคัญในช่วง 100 ปี ออกมาเป็น 4 ระยะ คือ (1) ระยะการปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่ สมัยเหมา เต๋อตุง (2) ระยะการปฏิวัติและสร้างสังคมนิยม สมัยเหมา เจ๋อตุง (3) ระยะการปฏิรูป เปิดประเทศ และสร้างความทันสมัยของสังคมนิยม ในสมัยเติ้ง เสี่ยวผิง เจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา และ (4) ยุคใหม่ของสังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน ในสมัยสี จิ้นผิง

และกุนซือคนสำคัญคนหนึ่งที่คนนอกไม่ค่อยรู้ว่า เขามีบทบาทที่ผ่านมาอย่างไรบนเส้นทางเติบโตของประเทศจีน แต่กำลังเป็นที่จับตาของฝ่ายตะวันตกคือ หวัง ฮูหนิง

การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ในปี 2012 ถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญของจีนยุคใหม่ เมื่อผู้นำพรรครุ่นเก่าที่นำโดยหู จิ่นเทา ได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำพรรครุ่นที่ 5 ที่นำโดยสี จิ้นผิง

กล่าวกันว่า ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของประเทศจีน ภายใต้ผู้นำจีน 3 รุ่นคือ เจียง เจ๋อหมิง หู จิ่นเทา และสี จิ้นผิง มาจากการมีส่วนร่วมวางแผน และดำเนินการให้เป็นไปตามแผนของหวัง ฮูหนิง (Wang Huning) โดยเฉพาะบทบาทในการเรียบเรียงแนวคิดของสี จิ้นผิง ในเรื่อง “ความฝันของจีน” (Chinese Dream) และ “ความคิดสี จิ้นผิง” (Xi Jinping Thought)

บทบาทของหวัง ฮูหนิง คล้ายกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และผู้รับผิดชอบการเขียนสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาถูกเรียกว่า “ที่ปรึกษาจงหนานไห่”จงหนานไห่เปรียบเหมือน “ทำเนียบขาว” ของจีน

หนังสือ America Against America ขาดตลาดไปนานแล้ว หนังสือเล่มนี้พยากรณ์ไว้เมื่อ 30 ปีมาแล้ว ถึงการตกต่ำของสหรัฐฯ ที่มีสาเหตุจากความขัดแย้งภายในประเทศ

หวัง ฮูหนิง ชี้ให้เห็นถึงสังคมอเมริกา ที่สภาพเป็นจริงขัดแย้งกับภาพอเมริกาในจินตนาการ หรือในอุดมคติของคนจำนวนมาก โดยยกตัวอย่างจากความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีทางธุรกิจ กับชุมชนที่ยากจนในอเมริกา หรือระบอบประชาธิปไตยกับการถูกควบคุมที่ไม่ใช่แบบประชาธิปไตย โดยกลุ่มผลประโยชน์ของระบบทุนนิยม เขาเปรียบเทียบประชาธิปไตยในอเมริกา เหมือนกับการเลือกตั้งของผู้ถือหุ้นในบริษัทธุรกิจ ผู้ถือหุ้นแต่ละคนอาจมีสิทธิมีเสียง แต่ผู้ถือหุ้นกลุ่มน้อยเท่านั้นที่เป็นฝ่ายมีอำนาจควบคุมทุกอย่างในบริษัท

หวัง ฮุหนิง เขียนไว้ว่าในอเมริกา ทุกอย่างเป็นสินค้า ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของสังคม หรือวัฒนธรรมอเมริกาคือ ภาวะที่ทุกอย่างเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ในตลาด เรียกว่า คอมโมดิฟิเคชั่น(commodification) ซึ่งเป็นลักษณะของระบบทุนนิยม เพราะเหตุนี้ มาร์กซจึงถือเอาสินค้าเป็นเซลล์ของระบบการผลิตแบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมในปัจจุบัน ลักษณะดังกล่าวมีการพัฒนาสมบูรณ์มากขึ้น

หวัง ฮูหนิงมองว่า สังคมสมัยใหม่ที่สิ่งของต่างๆ มีภาวะการเป็นสินค้าซื้อขายในตลาดในระดับสูง คำถามสำคัญก็คือ สภาพดังกล่าวของการมีฐานะเป็นสินค้า ได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการบริหารจัดการสังคมสมัยใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบจัดการตัวเอง (self-organizing system) โดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามาดำเนินการเสียเอง แต่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายกำกับดูแล

ในเรื่องเสรีภาพกับความเท่าเทียม หวัง ฮูหนิง กล่าวถึงความขัดแย้ง ระหว่างเสรีภาพกับความเท่าเทียม เสาหลักของแนวคิดที่สำคัญของอเมริกาว่า เสรีภาพเป็นเรื่องที่ตีความได้หลากหลาย มีลักษณะยืดหยุ่น ส่วนความเท่าเทียมเป็นแนวคิดที่มีขอบเขตมากกว่า ความเท่าเทียมในเรื่องโอกาสหรือในเรื่องของเงื่อนไข หากไปโยงกับเสรีภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาผลลัพธ์คือความไม่เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้หวัง ฮูหนิง มองว่า ความคิดแบบปักเจกชน ทำให้ครอบครัวไม่ใช่หน่วยพื้นฐานของสังคมอเมริกันอีกต่อไป แต่หน่วยพื้นฐาน คือ ตัวปักเจกบุคคล ทำให้ครอบครัวอเมริกันสูญเสียบทบาททางสังคม ในการทำหน้าที่สั่งสอนเยาวชน สนับสนุนคนสูงอายุ หรือลดความขัดแย้งระหว่างบุคคล รัฐบาลต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงแทน

หวัง ฮูหนิง เห็นว่า ความคิดปัจเจกบุคคลที่เชื่อถือตัวเอง แต่ไม่เชื่ออำนาจทางการเมือง คือภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงที่สุดต่ออเมริกา เพราะสิ่งนี้เป็นตัวที่ไปทำลายระบบค่านิยมเดิมของตะวันตก และประชาธิปไตยแบบตะวันตกเองก็จะสูญสิ้นไปด้วยในที่่สุด