Truthforyou

จับตาดีลแสนล้าน!!true ควบ dtac รวบลูกค้า 51.3 ล้านรายขึ้นเบอร์ 1 ทำ AIS หนาว

วงการโทรคมนาคม และสาธารณชนฮือฮา จับตาข่าวการควบรวมกิจการบริษัทยักษ์มือถือสองค่ายใหญ่ ทรูและดีแทค จะพลิกเกมแข่งขันอุตสาหกรรมมือถือไทยสามารถยึดฐานลูกค้าทะลุ 51.3 ล้านรายได้  ทั้งนี้คู่สัญญาได้แจ้ง ตลท.หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการ ควบรวมบริษัทว่าอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และพร้อมให้ บริษัทซิทรีนโกลบัลฯซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนตั้งใหม่ของทั้งสองค่ายยื่นซื้อหลักทรัพย์ต่อไป ล่าสุดแถลงร่วมมือเพื่อดันไทยเป็นฮับเทคโนโลยีอวกาศ งานนี้ค่าย AIS นั่งไม่ติดแน่ ขณะที่กสทช.เชิญทั้งสองบริษัทฯเข้าชี้แจง เพื่อประเมินว่า การควบรวมครั้งนี้ส่งผลในลักษณะผูกขาดตลาดหรือไม่ และ ประชาชนไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร เรื่องนี้ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนทั้งจากภาครัฐและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 22 พ.ย.2564 กลุ่มทรู – ดีแทค ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับมติบอร์ดในการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัท ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ รับทราบความประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer)

โดยที่ประชุมบริษัททรูและดีแทคแจ้งว่าบริษัททำการศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัททรูและดีแทคภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดพ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม) (“พ.ร.บ.บริษัทมหาชน”) (“การควบบริษัท”)และอนุมัติให้บริษัทฯเข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non -Binding Memorandum of Understanding) (MOU)กับ dtacเพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation)

นอกจากนี้ได้พิจารณากำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio)สำหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท (“บริษัทใหม่” )ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราส่วนดังนี้ 1หุ้นเดิมในทรูต่อ 2.40072หุ้นในบริษัทใหม่และ 1 หุ้นเดิมในดีแทคต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่

 

ทั้งนี้อัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกำหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่าภายหลังการควบบริษัทบริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดจำนวน 138,208,403,204 หุ้นโดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1บาท

อย่างไรก็ตามจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดและมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นของบริษัทใหม่ภายหลังการควบบริษัทจะมีการเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของทั้ง 2 บริษัทฯพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของการควบบริษัทต่อไป

 

พร้อมกันนี้ทั้ง 2บริษัทได้รับทราบจากบริษัทชิทรินโกลบอลจำกัด “Citrine Global” หรือ “ผู้ทำคำเสนอซื้อ”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company)ระหว่างบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งจำกัดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯและ Telenor Asia ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ dtac ว่า Citrine Global มีความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาทตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ทจ. 12/2554 เรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) (“การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจ”)

ปัจจุบันทรูมูฟเอชมีฐานลูกค้า 32 ล้านเลขหมาย ดีแทค 19.3 ล้านเลขหมาย หากรวมกันจะเป็น 51.3 ล้านเลขหมาย พลิกขึ้นมามีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่งในแง่ฐานลูกค้าที่จะมากกว่าเอไอเอสที่มีฐานลูกค้า 43.8 ล้านเลขหมาย แม้ในตลาดปัจจุบันจะยังมีเอ็นที หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ฐานลูกค้าก็ยังห่างมากแค่ระดับล้านเลขหมายเท่านั้น

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่าได้เชิญตัวแทน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เข้าชี้แจงต่อกรณีกระแสข่าวการควบรวม​กิจการ​ระหว่างทรูและดีแทค

โดยจะมีการสอบถาม​ว่า หากเกิดการควบรวมกิจการ หรือ จัดตั้งบริษัท​ลูก หรือ มีการควบรวมหน่วยธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง​ จะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนไปมากน้อยอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณา​ให้สอดคล้องกับร่างประกาศ ​กสทช. เรื่อง กฎเกณฑ์ควบคุมผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ เนื่องจากการเปลี่ยนจำนวนผู้เล่นในอุตสาหกรรมส่งผลต่อตลาดและโครงสร้างเศรษฐกิจ

เบื้องต้น​ตัวแทนดีแทค จะเข้าชี้แจงต่อ กสทช. ในวันที่ 22 พฤศจิกายน​ ส่วนตัวแทนทรู จะเข้า​ชี้แจงในวันที่ 23 พฤศจิกายน​

ล่าสุดผู้บริหารทรูและเทเลนอร์แถลงร่วมกล่าวว่า บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะมุ่งไปที่การศึกษาโอกาสด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างจริงจัง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเรื่องนี้จะสามารถช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีของภูมิภาคได้ สอดรับกับคาดการณ์ที่ว่า ต่อไปในยุคของเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เจเนอเรชั่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมจะเป็นตัวสำคัญที่มาเสริมการส่งสัญญานและการเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ต่างมั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

Exit mobile version