จากที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์แบนเนอร์พร้อมข้อความ เปิดเผยถึงการไต่สวนเพิกถอนประกันตัวของสามแกนนำผู้ชุมนุม ซึ่งมีบางช่วงที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง!!!
โดยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 704 มีนัดไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการ ที่ยื่นขอเพิกถอนการประกันตัว 3 แกนนำราษฎร จากคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้แก่ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘แอมมี่’ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ โดยศาลได้ทำการไต่สวนในวันนี้จนเสร็จสิ้นแล้ว และนัดฟังคำสั่งว่าจะเพิกถอนประกันแกนนำทั้งสามหรือไม่ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นี้
ศาลได้เบิกตัว “รุ้ง” ปนัสยา มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง และได้เบิกตัว “#ไมค์” ภาณุพงศ์ มาจากเรือนจำพิเศษกลางกรุงเทพฯ ทั้งสองสวมใส่ชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล โดยไม่ได้ถูกใส่เครื่องพันธนาการใดๆ หลังภาณุพงศ์มาถึงห้องพิจารณา “#ยี่หวา” หลานสาววัย 6 ขวบ ของภาณุพงศ์ได้วิ่งเข้าไปโผกอดทันที ทั้งคู่โอบกอดกันชั่วครู่ จากนั้นภาณุพงศ์ได้ยื่นหนังสือนิทาน ‘10 ราษฎร’ และ ‘#แม่หมิมไปไหน’ สองในหนังสือนิทานชุด ‘#วาดหวัง’ ให้กับหลานสาว ก่อนเธอจะรับและกอดไว้ในอ้อมอก และวิ่งกลับไปนั่งยังที่เดิม
อย่างไรก็ตามทีมข่าวเดอะทรูธพบว่า สองในนิทานชุดวาดหวังนั้น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก จำนวน 8 เล่ม จากเพจ “วาดหวังหนังสือ” กระทรวงศึกษาธิการมองว่า เป็นนิทานที่มีเนื้อหาปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง และครอบงำความคิดเด็ก โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งการให้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจตรวจสอบเรื่องนี้
ต่อมาที่ประชุมสรุปการดำเนินงานของคณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือนิทานชุดวาดหวัง พร้อมด้วยแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยผลตรวจสอบคณะทำงานให้ความเห็นว่า มี 3 เล่มเป็นประโยชน์ แนะนำเด็กและเยาวชนนำไปใช้ได้ ส่วนอีก 5 เล่มเข้าข่ายเนื้อหาควรเฝ้าระวัง พร้อมส่งข้อสรุปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้พิจารณาต่อ
ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ประธานร่วมคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ กล่าวว่า มุมมองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาคณะทำงานชุดเฉพาะกิจครั้งนี้คือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ให้ความเห็นว่าหนังสือนิทานชุดนี้ ผู้จัดทำระบุไว้ว่าเหมาะกับเด็กในระดับอายุ 5-12 ปี
“โดยในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ เด็กที่มีอายุ 6 ขวบปีแรกจะยังไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งจินตนาการ และโลกความเป็นจริงได้ หากได้รับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เด็กเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างสังคมคุณธรรมที่เป็นสังคมเชิงบวก เพื่อปลูกฝังสิ่งที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน และสร้างสื่อที่สร้างสรรค์”
นอกจากนี้จากการประชุมพิจารณาหนังสือชุดนิทานวาดหวังทั้ง 8 เล่ม นั้นที่ประชุมมีความเห็นว่า หนังสือชุดนิทานวาดหวังมีทั้งที่เป็นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ และเนื้อหาที่อาจนำไปสู่การบ่มเพาะปลูกฝังความขัดแย้ง รุนแรง โดยนิทานเรื่องที่เป็นประโยชน์และควรให้การสนับสนุน ได้แก่
1.นิทานเรื่องตัวไหนไม่มีหัว ซึ่งมีจุดอธิบายและขมวดปมได้ว่าตัวอักษรทุกตัวมีความเท่าเทียมกัน สอนเด็กให้เรียนรู้ถึงความเท่าเทียม และเคารพความเห็นต่างของแต่ละบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
2.เรื่องแค็ก แค็ก มังกรไฟ สอนให้เด็กรู้จักรักสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ปกป้องไฟป่า ร่วมมือร่วมใจดับไฟป่า
3.เรื่องเด็กๆ มีความฝัน ถือเป็นหนังสือที่ตอบโจทย์ทุกคนรวมถึงเยาวชน เพราะท้ายที่สุดเด็กทุกคนมีความฝัน เป็นเสรีภาพในการใช้ชีวิต
ซึ่งในมุมมองนักวิชาการหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้เป็นหนังสือที่ดี น่าชื่นชม เด็กเยาวชนสามารถนำไปใช้เรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุ
“ส่วนหนังสือที่มีเนื้อหาเข้าข่ายควรระวังตามความเห็นของนักวิชาการที่มองว่าอาจบ่มเพาะเยาวชนให้นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง โดยการใช้ความรุนแรงมาตัดสินในอนาคตได้นั้น ได้แก่ 1.หนังสือเรื่องแม่หมิมไปไหน 2.เรื่องเป็ดน้อย 3.เรื่องเสียงร้องของผองนก 4.เรื่อง 10 ราษฎร และ 5.เรื่อง จ จิตร”