นักประวัติศาสตร์มะกันฟันธง!!สหรัฐฯกำลังล่มสลาย รบกับจีนเพราะไต้หวันทำลายตัวเอง

1324

สืบเนื่องการประชุมสุดยอดดิจิทัลของประธานาธิบดี Joe Bidenกับประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บรรยากาศผ่านไปด้วยดี แต่หากจับสัญญาณสำคัญที่ทุกฝ่ายตั้งตารอเรื่อง ‘ไต้หวัน’ ไม่มีสัญญาณบวกแต่อย่างใด ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นระหว่าง 2 มหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไต้หวันและฮ่องกง สะท้อนว่าสงครามเย็นครั้งใหม่กำลังเติบโตขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ล่าสุด นักประวัติศาสตร์อเมริกันที่เกาะติดการแข่งขันครองอำนาจของสหรัฐและคู่แข่งมาอย่างต่อเนื่อง ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯและวิเคราะห์ก้าวต่อไป จากปรากฎการณ์การพบกันของผู้นำทั้งสองอย่างน่าสนใจ

วันที่ 16 พ.ย.2564 อัลเฟรด แมคคอย (Alfred McCoy) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน( University of Wisconsin-Madison) ให้สัมภาษณ์องค์กรอเมริกันชื่อเดโมเครซีนาว( Democracynow) เกี่ยวกับสหรัฐฯ ว่า “ในอนาคตอันใกล้นี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ในการทำสงครามกับจีนเรื่องไต้หวัน ซึ่งมีแต่จะพ่ายแพ้ในที่สุด” ความสัมพันธ์กับจีนที่เห็นจากการประชุมเสมือนจริงที่ผ่านมา เป็นเพียงภาพฉาบหน้าเนื้อในที่ลึกซึ้งกว่าที่เห็น ในการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นระหว่างสองมหาอำนาจ

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯยังคงเหมือนเดิมในการต่อต้านอิทธิพลจีนซึ่งจีนรู้เรื่องนี้ดีที่สุด  ล่าสุดปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐ พิจารณาไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ในเดือนก.พ.2565 แต่ยังคงอนุญาตให้นักกีฬาสหรัฐเข้าร่วมการแข่งขัน โดยสหรัฐอ้างเหตุผลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนและฮ่องกง ก่อนหน้านี้ เมื่อ เม.ย.64 โฆษก กต.จีน ได้เตือนสหรัฐไม่ควรทำให้การแข่งขันกีฬาเป็นเกมส์การเมืองระหว่างประเทศ

แมคคอยกล่าวถึงการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลึกซึ้งในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกทุกคนได้ทำสิ่งเดียวกัน ผู้นำระดับโลกทุกราย ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ โปรตุเกส ฮอลแลนด์ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา และตอนนี้คือประเทศจีน ได้สร้างอิทธิพลเหนือดินแดนยูเรเซียน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรและผลผลิตถึง 70% ของโลก และด้วยเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์ที่จีนสร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 อันเป็นผลมาจากการค้าขายแบบเปิดกับสหรัฐอเมริกา จีนได้ลงทุน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นี้ โดยวางโครงข่ายเหล็กสำหรับรถไฟ ถนน และท่อส่งก๊าซ ซึ่งรวมเอาผืนดินทวีปเอเชียอันกว้างใหญ่ไพศาล เข้าสู่ตลาดเดียวที่การค้าและอำนาจทางธรรมชาติกำลังไหลไปสู่ปักกิ่ง

จีนกำลังทำงานเพื่อทำลายการยึดครองดินแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ เหนือดินแดนยูเรเซียน ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯควบคุมสิ่งที่เรียกว่าปลายแกนของยูเรเซียผ่านพันธมิตรของNATOในยุโรปตะวันตกและสนธิสัญญาทวิภาคี 4 ฉบับ สนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย และจากตำแหน่งในแนวแกนทั้งสองนี้ เราล้อมยูเรเซียด้วยแถบเหล็ก เรือบรรทุกเครื่องบิน เครื่องบินไอพ่น เครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อยึดครองยูเรเซีย แต่ตอนนี้จีนกำลังเจาะทะลุวงกลมเหล็กเหล่านั้น ทำลายการยึดเกาะทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ เหนือยูเรเซีย โดยผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ได้ยึดโยงอิทธิพลของจีนเข้าไว้ด้วยกัน

ยิ่งไปกว่านั้น จีนได้สร้างท่าเรือ 40 แห่งที่ล้อมรอบทวีปยูเรเซียนและชายฝั่งแอฟริกา ดังนั้น การรวมกันของวงกลมทางภูมิศาสตร์การเมืองของแนวชายฝั่งของยูเรเซีย รวมกับโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วทั้งทวีป กำลังวางจีนไว้ในการควบคุม โดยที่จีนจะครอบครองดินแดนยูเรเซียน และนั่นคือกุญแจสู่อำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ 

ไพรซ์ วอเตอร์เฮ้าส์(PricewaterhouseCoopers) บริษัทที่ปรึกษาลงทุนระหว่างประเทศ ระบุว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เศรษฐกิจของจีนจะโตอย่างน้อย 50% และนั่นจะทำให้จีนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมหาศาล ยิ่งกว่านั้น ภายในสิ้นทศวรรษนี้ พวกเขาจะสามารถเอาชีวิตรอดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกับสหรัฐฯ ได้ เพราะแน่นอนว่า ประเทศจีนกำลังขยายการควบคุมทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ดังนั้นจีนจึงเข้ามาแทนที่สหรัฐฯในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง  ต่อไปทุกคนจะซื้อขายสินค้าได้ด้วยเงินหยวนหรือดอลลาร์ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะดอลลาร์เหมือนในอดีต เศรษฐกิจของจีนตอนนี้อาจใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯแล้ว แต่ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ใหญ่ขึ้นอย่างน้อย 50%

ในปัจจุบันนี้ จีนอาจเป็นประเทศเดียวที่มีอำนาจหลักในการ รุกเข้าไปในทวีปหรือพื้นที่ของโลกที่เคยถูกมองว่าเป็นสนามหลังบ้านของสหรัฐฯ เช่นละตินอเมริกา และสามทวีปที่อยู่ใกล้กันที่ก่อตัวเป็นเกาะโลก ได้แก่ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ซึ่งสายเกินกว่าอเมริกาจะขัดขวางความจริงที่เกิดขึ้นแล้วได้

แมคคอยย้ำว่า “ใครก็ตามที่ครองภูมิภาคที่เป็นหัวใจในเอเชียกลาง ของเกาะโลกนี้คือผู้ครองโลก” และจากมุมมองของเขา ทั้งสามทวีปนี้เป็นแกนกลางของอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์โลก