โดนแล้ว! แอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯแก๊งรุ้ง เจอ2ข้อหาหนัก“ม.112”โพสต์10ข้อล้มล้างฯ

1712

จากที่วันนี้ 18 พฤศจิกายน 2564 เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์แบนเนอร์ พร้อมข้อความเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 โดยล่าสุดแอดมินเพจฯและเป็นกลุ่มเดียวกับรุ้ง ถูกแจ้งข้อหา ผลสืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีล้มล้างสถาบันฯ

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความฯ เปิดเผยรายละเอียดเรื่องดังนี้ว่า  เมื่อวันที่17 พฤศจิกายน 2564 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) นิราภร อ่อนขาว หรือ “บี๋” นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และได้โพสต์ข้อความจำนวน 3 โพสต์

ก่อนหน้านี้นิราภร และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้รับหมายเรียกลงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 โดยคดีมี นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ผู้กล่าวหา เดิมรุ้งนัดหมายเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันเดียวกันนี้ แต่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีแต่งครอปท็อปเดินสยามพารากอนเสียก่อน

พ.ต.ท.วิพัฒน์ รัชอินทร์ และ ร.ต.อ.ปิยวัฒน์ ปรัญญา ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนิราภร พฤติการณ์โดยสรุประบุว่า คดีนี้มีนายนพดล พรหมภาสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับ ผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration” โดยผู้กล่าวหาได้กล่าวหาว่า บัญชีดังกล่าวมีการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 3 โพสต์ ดังนี้

โพสต์ที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 เวลา 22.12 น. เพจดังกล่าวโพสต์ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ 10 ข้อเรียกร้อง เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้

โพสต์ที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 64 เวลา 10.34 น. เพจดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) #ภาษีกู #ยกเลิก112” พร้อมกับรูปภาพกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ถูกพ่นสีสเปรย์ข้อความว่า “ยกเลิก 112” และ “ภาษีกู” จํานวน 9 ภาพ

โพสต์ที่ 3 เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 เวลา 13.32 น. เพจดังกล่าวได้โพสต์ภาพกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ที่มีการตัดต่อล้อเลียนให้เสื่อมเสีย จํานวน 1 ภาพ พร้อมกับเนื้อหาที่ระบุถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ต่อมา จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า นิราภร และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นแอดมินและเป็นผู้ใช้งานบัญชีเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงเชื่อว่าได้ร่วมกันโพสต์ข้อความและรูปภาพทั้ง 3 โพสต์ดังกล่าวข้างต้น

พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อนิราภร ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

นิราภร ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 17 ธ.ค. 64 ส่วน ปนัสยา ผู้ถูกกล่าวหาอีกรายในคดีนี้ พนักงานสอบสวนจะเข้าทำการแจ้งข้อกล่าวหาในภายหลังหากยังถูกคุมขังในเรือนจำ

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ นิราภรได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาตามหมายเรียกและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า นพดล พรหมภาสิต ได้เข้าดำเนินคดีประชาชนในข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 6 คดี โดยปนัสยา ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้เป็นจำนวน 9 คดีแล้ว ส่วนนิราภรถูกดำเนินในมาตรานี้เป็นคดีแรก

ทั้งนี้ ทั้งสองคนเคยถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจาก บก.ปอท. เข้าแสดงหมายจับ ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่าทั้งสองเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่โพสต์ให้ประชาชนออกไปชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาอีกด้วย