‘ลุงตู่’ ดันอีอีซีฉลุย!! ลงทุนสะพัด1.6 ล้านล้านบาท ใกล้เป้าหมายแล้ว 94%

1097

นายกฯเร่งเดินหน้าเศรษฐกิจ BCG  เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้ประเทศและประชาชน หลังพบว่า ตลอด4 ปี ผลักดันพื้นที่ EEC อนุมัติการลงทุนแล้วกว่า 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94 ของเป้าหมายมูลค่าการลงทุน  1.7 ล้านล้านบาท 

วันที่ 17 พ.ย.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคง ก้าวหน้า ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม  วางรากฐานเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่นยืน รวมทั้งส่งเสริมภาคการผลิตและบริการให้มีความแข็งแรง ภายใต้นโยบาย เศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ  ให้กับประชาชนและประเทศ

ระยะเวลา 9 เดือนแรกของปีนี้ มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2564 จำนวน 1,271 โครงการ วงเงินรวม 520,053.8 ล้านบาท ขณะที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ที่มีการอนุมัติการลงทุนแล้ว ตั้งแต่  2561 – 2564 ประมาณ 1,605,465 ล้านบาท หรือ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น ร้อยละ 94 ของเป้าหมายมูลค่าการลงทุน  (ปื 2561-2565 ) จำนวน  1.7 ล้านล้านบาท  ประกอบด้วย รัฐ-เอกชนร่วมลงทุน  4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก  จำนวน 633,635 ล้านบาท ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดย BOI จำนวน 889,840 ล้านบาท และงบบูรณาการ จำนวน 82,000 ล้านบาท 

     

นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมตาม BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)   

BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล มั่นคงและยั่งยืน และลดก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล วิสัยทัศน์และถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม COP 26 เน้นการเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดก๊าซเรือนกระจก 

นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญในการยกระดับฐานรายได้ของประชาชนรายครัวเรือน โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาข้อมูล เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาผ่านคณะต่าง ๆ ในการทำงาน ควบคู่กับการหารายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะการใช้ศักยภาพของประเทศในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ นำมาวิจัยให้เกิดมูลค่าสูงสุด เร่งพัฒนายกระดับภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภาคบริการของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีและวิจัยนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ที่สำคัญ คือคนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน ระบบสวัสดิการ และกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน

ล่าสุดในการประชุมกพอ.(คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก)เมื่อเร็วๆนี้ ที่มีพลเอกประยุทธ์ฯเป็นประธาน ได้มีมติปรับแผนลงทุนอีอีซีระยะที่2เป็นจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทใน 5 ปี เพื่อเสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย แข่งขันได้ในยุค New Normal 

โดยแผนลงทุนอีอีซีระยะ 2 ขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขัน ของประเทศ มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 

1) ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม. รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ (TOD) 

2) ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ (2.1) การลงทุนในระดับฐานปกติปีละ 250,000 ล้านบาท และ (2.2) การลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท 

3) ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน แผนอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า  จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านบาท/ปี(จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) ถือเป็นกลไกหลักช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572