“ทนาย” รุดตรวจสำนวนคดีรุ้ง! อ้างศาลนำ “ข้อเท็จจริงนอกสำนวน” สั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว? พบความจริงอัยการขอถอนคำสั่งปล่อยตัวฯเอง

1847

“ทนาย” รุดตรวจสำนวนคดีรุ้ง! อ้างศาลนำ “ข้อเท็จจริงนอกสำนวน” สั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว? พบความจริงอัยการขอถอนคำสั่งปล่อยตัวฯเอง

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (15 พ.ย. 64) ทางเว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับคดีของ รุ้ง ปนัสยา โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดสอบคำให้การนักกิจกรรมทั้ง 5 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ป๊อกกี้ ภวัต หิรัณย์ภณ, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 จากการทำกิจกรรม#ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ประกาศจัดกิจกรรมผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 63 เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112  ซึ่งในกิจกรรมนี้ นักกิจกรรมได้ร่วมกันใส่เสื้อครอปท็อปไปเดินบริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังเกิดกรณีของ สายน้ำ (นามสมมุติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพียงเพราะใส่ชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนตัวเอง

เมื่อเวลา 11.00 น. ศาลนั่งบัลลังก์นัดสอบคำให้การ โดยภายในห้องประกอบด้วยทนายจำเลย จำเลยทั้ง 5 ราย ญาติของจำเลยและผู้ที่มาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จาก ilaw และเจ้าหน้าที่สถานทูตจากฟินแลนด์และลักเซมเบิร์กเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ต่อมาศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้จําเลยทั้งห้าฟัง ด้านจำเลยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธและจะขอสู้คดีต่อไป

จากนั้นศาลได้นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 26 พ.ย. 64 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ม.ค. 65 เวลา 13.00 น. ปนัสยายังคงต้องนั่งอยู่ในเวรชี้ต่อไป เนื่องจากในคดีนี้ขณะที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 64 ไม่ได้นำตัวมาฟ้องในวันดังกล่าวด้วย ในวันนี้จึงต้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาเป็นครั้งแรก โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวด้วยเงินสด จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ต่อมาเวลา 17.00 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยงานชั่วคราวในตําแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยา โดยระบุคำสั่งว่า

“จำเลยเคยกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี หลังถูกฟ้องในคดีนี้ จำเลยซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญาก็ไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามของศาลอาญา จนพนักงานอัยการร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวไป จำเลยอาจไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกับคดีนี้อีก กรณีจึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”

ทำให้ในค่ำวันนี้ ปนัสยาถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป ซึ่งเป็นการกลับเข้าเรือนจำครั้งที่ 2 แล้วของปีนี้ หลังก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 64 เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยเธอถูกคุมขังนานถึง 60 วัน

อ่านเพิ่มเติม : https://tlhr2014.com/archives/37832

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (16 พฤศจิกายน 2564) นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความประจำศูนย์สิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า

เช้านี้ผมได้มาตรวจสำนวนคดี ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้งนั้น ในสำนวนคดี “ไม่มี” รายงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย รายงานถึงเรื่องการขอเพิกถอนการประกันตัวที่ศาลอาญา และไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวซึ่งศาลใช้เป็นเหตุ ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้งเลย เช่นนี้แล้ว ทำให้ผมเกิดคำถามว่า
คำสั่งศาลฉบับดังกล่าวได้นำ “ข้อเท็จจริงนอกสำนวน” มาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่? การนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ทราบก่อน และจำเลยไม่มีโอกาสได้โต้แย้งนั้น
เป็นธรรมต่อจำเลยหรือไม่