หนุ่มอุบลฯ โดนจับแฮกเว็บศาลรธน. อ้างป่วยซึมเศร้า แม่ร้องไห้ ลูกป่วนแทน 3 นิ้ว แต่ไร้คนเหลียวแล!?

1491

สืบเนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามแกะรอยจากไอพีของผู้ต้องสงสัยจนนำไปสู่การจับกุมหนุ่มวัย 33 ปี จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อเหตุแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญ ได้ที่บ้านพัก จ.อุบลราชธานี โดยผู้ต้องหายอมรับสารภาพลงมือก่อเหตุจริงนั้น

ต่อมามีรายงานว่า ขณะที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 นำหมายค้นศาลจังหวัดอุบล ที่ 194/2564 ลงวันที่ 12 พ.ย.2564 มาทำการตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องสงสัยใน ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้อ่านหมายค้นให้ทราบนั้น ปรากฏว่ามารดาของผู้ต้องหาเข้ามารับฟังด้วย และพอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเริ่มมีอาการเครียดขึ้นมาทันที เอ่ยปากถามลูกชายด้วยเสียงสั่นเครือว่า “แม่ก็ดูข่าวนี้อยู่ ไม่รู้ว่าเป็นลูก..ลูกใช้ความรู้ทำอย่างนี้หรือ” และร้องไห้ออกมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงพูดปลอบว่าให้ใจเย็น ๆ ไม่เป็นไร วันนี้เป็นการมาตรวจสอบเท่านั้น จากนั้นมารดา ก็บอกว่าที่ผ่านมาลูกไม่สบายมีอาการซึมเศร้า ซึ่งหลังจากจบมาก็ไม่ได้ทำงาน

ด้านผู้ต้องหา ได้ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง คณะด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าทำการตรวจค้นห้องพัก พร้อมยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหาไปตรวจสอบเพื่อประกอบหลักฐาน โดยเบื้องต้นผู้ต้องหารายนี้ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้แฮกเว็บของศาลรัฐธรรมนูญจริง

ทั้งนี้ทางด้านดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ ระบุด้วยว่า กรณีตำรวจจับกุมหนุ่มแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญว่า สิ่งหนึ่งที่คนพวกนี้เข้าใจผิดก็คือ เว็บไซต์ของส่วนราชการไม่ได้มีไว้เพื่อเก็บข้อมูลความลับ หรือ ระบบอะไรที่มันซับซ้อนเลย

แท้ที่จริงมันมีสถานะไม่ต่างอะไรจากป้ายประกาศที่แปะข้างฝา ตามหน่วยงานราชการ คือมีไว้ประชาสัมพันธ์ หรือ แจ้งข่าวสาร หรือแสดงเอกสาร/ประกาศทั่วไปเท่านั้น เว็บไซท์หน่วยงานราชการ มันไม่ใช่ฐานข้อมูลแบบธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่จะมีข้อมูลความส่วนบุคคลหรือข้อมูลชั้นความลับ ที่ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนา

ดังนั้นการแฮกเว็บไซต์พวกนี้ ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอะไรต่อส่วนราชการหรือองค์กรใด ๆ กลับกัน เมื่อทำเสร็จ ยังไงเสียมันก็มีร่องรอยให้ตำรวจไซเบอร์ตามกลับไปจับตัวคนที่ทำแน่นอนครับ สุดท้ายพวกนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ที่เขาปั่นความคิด ความเกลียดชังจนคุณก่ออาชญกรรมแบบนี้ขึ้นมา เขาก็ไม่เคยมารับผิดชอบชีวิตของคุณ สุดท้ายคุณก็เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่เขาจะเอาข่าวคุณไปปั่นกระแส และใช้ประโยชน์ทางการเมืองต่อก็เท่านั้นเองครับ