นายกฯให้คำมั่น!!เวที APEC CEO Summit ดันศ.แกร่ง ย้ำแนวคิดเปิดกว้าง-เชื่อมโยง-สมดุล

1191

นายกฯ กล่าวปาฐกถาในการประชุม APEC CEO Summit ย้ำแนวคิด ไทยมุ่งมั่นจะทำให้ APEC “เปิดกว้าง” สำหรับทุกโอกาส “เชื่อมโยง” ในทุกมิติ และ “สมดุล” ในทุกด้าน พร้อมสานต่องานในฐานะเจ้าภาพปีหน้า ดันฟื้นฟู สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจหลังโควิด

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เวลา 07.06 น. ตามเวลาประเทศไทย (หรือเท่ากับเวลา 13.06 น. ของเมืองโอ๊คแลนด์) ณ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในการประชุม APEC CEO Summit ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นสำคัญการเป็นเจ้าภาพของไทยในปี 2565” (Thailand’s Priorities for APEC 2022) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของปาฐกถา ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับ ABAC นิวซีแลนด์ที่จัดการประชุมครั้งนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2564 เป็นอีกปีที่ท้ายเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี APEC ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของนิวซีแลนด์ และด้วยจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือ ได้พิสูจน์ว่า APEC สามารถยืนหยัดเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ฟื้นฟูการสาธารณสุข เปิดพรมแดน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โลกที่เราอยู่อาศัย และความมั่งคั่งร่วมกัน โดยตัวอย่างความสำเร็จของ APEC คือ ความพยายามร่วมกันในการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งวัคซีนและเวชภัณฑ์ ซึ่งในประเด็นนี้ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วย

 

เวลานี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนทัศนคติไปสู่ “ความพอดี” สร้างสังคมหลังการแพร่ระบาดที่มีความยั่งยืนและสมดุล โดยประเทศไทยได้นำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และโมเดลนี้จะขับเคลื่อนประเด็นสำคัญในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย นอกจากนี้ ไทยมุ่งมั่นสานต่อการทำงานที่ผ่านมาของ APEC และเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 โดยแปลงวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ ผ่านปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ 3 ประการ ได้แก่ 1) การค้าและการลงทุน 2) ดิจิทัลและนวัตกรรม และ 3) ความยั่งยืนและการมีส่วนร่วม โดยการรับรองแผนปฏิบัติการของวิสัยทัศน์ปุตราจายาในคืนนี้จะเป็นความสำเร็จที่สำคัญของนิวซีแลนด์ในการแปลงวิสัยทัศน์ของผู้นำ APEC ไปสู่แผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง

ในปี 2565 ประเทศไทยมุ่งมั่นจะทำให้ APEC “เปิดกว้าง” สำหรับทุกโอกาส “เชื่อมโยง” ในทุกมิติ และ “สมดุล” ในทุกด้าน วาระการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยจะสอดคล้องกับเป้าหมายและการดำเนินการที่มีอยู่แล้วของ APEC แต่นำเสนอภายใต้แนวคิดแบบใหม่ โดยประเด็นสำคัญมีอยู่ 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน สานต่อการเปิดตลาดผ่านการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี พยายามฟื้นการหารือเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) หลังยุคโควิด-19 ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล และการรับมือกับประเด็นทางการค้าใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข และการพัฒนาที่ครอบคลุม ซึ่งไทยหวังว่าจะได้ทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับภาคเอกชนในเรื่องนี้

ประการที่สอง การฟื้นฟูความเชื่อมโยง ไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัยและไร้รอยต่อ โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ไทยได้เปิดประเทศเพื่อรับนักเดินทางทางอากาศจาก 63 ประเทศและอาณาเขต ซึ่งเขตเศรษฐกิจ APEC ส่วนใหญ่ก็รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดัน ไทยจะดำเนินการตามคำแนะนำของ ABAC ในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเดินทางอย่างปลอดภัย เพื่อร่วมมือกันเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกันอีกครั้ง 

ประการที่สาม การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ไทยยืนยันว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของ APEC จะครอบคลุมและยั่งยืน โดยในที่ประชุม COP26 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้ยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนและการมีสภาพภูมิอากาศที่ดี โดยไทยจะศึกษาโมเดลทางเศรษฐกิจ และการดำเนินการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึง โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วาระการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยได้สะท้อนข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจที่ต้องการให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมยืนยันว่า ไทยจะสานต่องานของ APEC และมอบมุมมองใหม่ต่อประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในบริบทของโลกหลังโควิด-19