โซเชียลซัดเละ! หลัง “ดร.กุลลดา” แซะ “จุฬาฯ” โดนตั้งกก.สอบ เพราะปล่อยผ่าน วิทยานิพนธ์ บิดเบือนสถาบันฯ!

1775

หลังจากเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้จุฬาฯ ยุติการสอบสวนกรณีวิทยานิพนธ์ของ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง เพื่อธำรงเกียรติภูมิแห่งจุฬาฯ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ

โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากอธิการบดีจุฬาฯ ลงนามใน “คำสั่งลับ” แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีวิทยานิพนธ์ของ ผศ.ดร. ณัฐพล เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา และได้มีการระบุผ่านจดหมาย ในบางตอนด้วยว่า “การโยงเรื่องวิชาการกับการล้มล้างสถาบัน และกล่าวหาว่านายณัฐพลว่ามีเจตนาบิดเบือนหลักฐาน จึงเป็นผลของอคติส่วนตัวและความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ตรวจสอบ ทั้ง ๆ ที่วิทยานิพนธ์และหนังสือของนายณัฐพลไม่ได้เสนอ หรือแม้แต่ชี้นำให้มีการยกเลิกหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด การโจมตีและโฆษณาขยายผลเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมต่อนายณัฐพลอย่างยิ่ง”

ล่าสุดทางด้าน รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด ออกแถลงการณ์ กรณีตกเป็นจำเลยที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง ตั้งคำถามถึงจุฬาฯ หากมีความเป็นสถาบันวิชาการระดับสากล ควรปกป้องตนในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แต่สุดท้ายกลับตั้งกรรมการสอบเสียเอง

ทั้งนี้เพจเฟซบุ๊ก ฟ้าเดียวกัน ได้โพสต์ข้อความไว้ดังนี้ ว่า “คำแถลง รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด จำเลยคนที่ 2 “แถลงการณ์จาก
อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด
อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ดิฉันมีความเสียใจที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง คดีนี้แยกเป็นสองส่วน คือส่วนแรกที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ ซึ่งดิฉันมีบทบาทเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และส่วนที่สองคือ หนังสืออันเป็นผลผลิตของวิทยานิพนธ์ ซึ่งดิฉันไม่มีบทบาทใด ๆ ทั้งสิ้น การดำเนินคดีในส่วนแรก เป็นความท้าทายต่อหลักการของเสรีภาพทางวิชาการ การฟ้องดำเนินคดีดิฉันซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นการละเมิดหลักการทั้งสองและย่อมมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการวิชาการในอนาคตด้วย

คดีนี้ จึงเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาหลักการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งมีหลักการเป็นสากลว่า ผลผลิตของวิทยานิพนธ์ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้ทำวิทยานิพนธ์นั้น
คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้ใช้เวลาตรวจสอบวิทยานิพนธ์แล้ว และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วิทยานิพนธ์สอบผ่าน และวิทยานิพนธ์ดีมาก ซึ่งเป็นงานวิชาการที่เปิดให้มีการโต้เถียงได้โดยเสรี หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเป็นสถาบันวิชาการในระดับสากล ก็ควรต้องรับรองหลักการดังกล่าวอันเกิดขึ้นภายในสถาบันของตนด้วย และควรต้องมีบทบาทในการปกป้องดิฉันซึ่งทำหน้าที่อันชอบธรรมตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ยอมรับหรือกระทำตามหลักการที่มีความเป็นสากลนี้ และไม่ได้ดำเนินการปกป้องดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งทำหน้าที่ตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยอย่างที่ควร แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนบทบาทของดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาดังกล่าว
และในทางตรงกันข้าม ดิฉันกลับได้รับการสนับสนุน กำลังใจ ไมตรีจิต และความช่วยเหลือจากอาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน ซึ่งดิฉันของขอบพระคุณ ณ ที่นี้ด้วย” ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

อย่างไรก็ตามได้มีทั้งกระแสชื่นชมอาจารย์ และต่อว่า โดยมีคนเข้ามาคอมเม้นต์ให้กำลังใจ และบอกว่า วิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง นั้นไม่ผิด เพราะเชื่อว่าถ้าหากถูกตรวจสอบ และดำเนินการ คนรุ่นหลังจะไม่ได้อ่านเนื้อหาที่เป็นความจริง แต่อีกมุมหนึ่ง มีการตั้งคำถามว่า หากหนังสือเล่มนั้น มีเนื้อหาที่บิดเบือน ชนิดที่พิสูจน์ได้ จริงมั้ยล่ะครับ ? ถ้าจริง ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา วิทยานิพนธ์ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ด้วยมั้ยล่ะครับ ? ถ้าจริงก็ต้องรับสภาพอ่ะครับ และถ้าในเมื่อมันบิดเบือนและกล่าวหาชาวบ้านมันมีราคาที่ต้องจ่ายครับ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม 3 นิ้วเข้ามาแซะจุฬาฯด้วยว่า เรื่องเสรีภาพไม่ยุ่งหรอก มุ่งแต่จะแบกเกี้ยวเท่านั้น