Truthforyou

เปิดคำปราศรัย-ตีแผ่พฤติกรรม 3 แกนนำพุ่งเป้าโจมตีสถาบัน? ลุ้นศาลรธน.ชี้ขาดคดีเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง? 

เปิดคำปราศรัย-ตีแผ่พฤติกรรม 3 แกนนำพุ่งเป้าโจมตีสถาบัน? ลุ้นศาลรธน.ชี้ขาดคดีเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง?

จากกรณีที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารการประชุมปรึกษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ณฐพร โตประยูร ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พริษฐ์ ชิวรักษ์ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ สิริพัชระ จึงธีรพานิช สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ในการชุมนุมปราศรัย (ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในหัวข้อ”ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”) เพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของอานนท์ ภาณุพงศ์ และ ปนัสยา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้องทั้งสามยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อัยการสูงสุด สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันพุธที่ 10 พ.ย. 2564 เวลา 15.00 น.

ล่าสุดทางด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า

ไม่ค่อยเป็นข่าวแต่ตามกำหนด วันที่ 10 พ.ย. นี้ จะเป็นวันนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่นาย ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แกนนำ ม็อบราษฎร จำนวน 8 ราย ได้ปราศรัยเสนอข้อเรียกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงรับคำร้องเฉพาะการกระทำของ นาย อานนท์ นำภา นาย ภานุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวม 3 รายในการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญนาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เท่านั้น ดังนั้น เราลองย้อนกลับไปดูว่า แกนนำทั้ง 3 ได้ปราศรัยโดยสรุปว่าอย่างไรบ้างในวันนั้น

นาย ภานุพงศ์ จาดนอก ได้ปราศรัยเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ว่า เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งตั้งอยู่ในที่ที่จะมีการตัดถนนผ่าน เพื่อนำความเจริญมาสู่พื้นที่ จึงควรขุดต้นไม้ต้นนั้นออกเพื่อนำไปไว้ในที่ที่ควรอยู่ ซึ่งสื่อความหมายชัดเจนว่า สถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญของประเทศ

นายภานุพงศ์ยังกล่าวว่า ปัจจุบันประะเทศเรายังคงอยู่ในระบอบสมบูรญาสิทธิราช เพราะกษัตริย์ยังคงอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เพราะในรัฐธรรมนูญหมวด 2 ระบุว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ พระมหากษัตริย์จึงอยู่เหนือประชาชน ประชาชนแตะต้องไม่ได้ เพราะหากแตะต้องจะต้องโดนมาตรา 112 กษัตริย์ควรจะต้องกลับมาอยู่ในประเทศไทย ไม่ควรอยู่ที่ประเทศเยอรมัน เพราะเป็นการเปลืองภาษีประชาชน ประเทศนี้เป็นของประชาชน มิใช่เป็นของกษัตริย์อย่างที่เขาหลอกลวง

นาย ภานุพงศ์เรียกร้องให้ลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลง และสุดท้ายยังกล่าวโจมตีตำรวจว่า คุกคามประชาชน เป็นสุนัขรับใช้เผด็จการ และยังท้าทายด้วยความฮึกเหิมว่า

“แกนนำโดนจับวันไหน วันนั้นมึงต้องเจอกับประชาชนทั้งแผ่นดิน”

นางสาว ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนวงศ์ หรือรุ้ง เริ่มต้นปราศรัยก็เสียดสีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทันที โดยบอกว่า
ในหมายจับที่มาจับแกนนำเขียนว่า “ในพระปรมาภิไธย” นางสาว ปนัสยาไม่ทราบหรือแกล้งไม่ทราบแต่ต้องการให้คนฟังเข้าใจผิดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งให้จับ แต่ความจริงศาลเป็นผู้ออกหมายจับ เป็นธรรมดาที่ในหมายจับต้องมีคำว่า “ในพระปรมาภิไธย”อยู่แล้ว

นางสาวปนัสยา พยายามชี้ให้ผู้ชุมนุมเห็นว่า ทุกคนเกิดมาต้องเท่ากัน ไม่มีใครเกิดมาสูงศักดิ์กว่าใคร พวกเขาหลอกลวงว่า ผู้ที่เกิดมาในราชวงศ์ เป็นเทพ เทวดาลงมาเกิด ถ้าจริง ทำไมเทพจึงมีนิสัยใจคอเช่นนี้ พวกเขาสร้างเรื่องขึ้นเพื่อ “กดขี่ข่มเหง และเสวยสุขบนความทุกข์ยากของประชาชน”

นางสาวปนัสยา ตั้งข้อกล่าวหา และพยายามโน้มน้าวให้ผู้ชุมนุมเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนในการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างทางการเมือง กรณี กาสะลอง ภูชนะ สุรชัย แซ่ด่าน และวันเฉลิม ทั้งที่ทั้งหมดเป็นเพียงข่าวลือ และเน้นย้ำว่า ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก ต้องสามารถพูดอะไรก็ได้ที่อยากพูด แม้กระทั่งจะพูดว่า ไม่ต้องการสถาบันกษัตริย์ก็จะต้องพูดได้ และยังได้อ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เป็นที่ทราบภายหลังว่าผู้อื่นเขียนให้อ่านอีกด้วย

นาย อานนท์ นำภา เริ่มต้นด้วยการพูดว่า ทุกคนที่พูดก่อนหน้าตนเอง เป็นเรื่องจริง นาย อานนท์ กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้คือ สถาบันกษัตริย์พยายามขยายพระราชอำนาจผ่านคณะรัฐประหาร 2557 พวกเราเป็นลูกหลานของคณะราษฎร จะต้องทำหน้าที่แทนคณะราษฎร สานต่องานของคณะราษฏรให้สำเร็จ สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวเข้าหาประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์ นาย อานนท์เสนอให้นำเรื่องนี้เข้าสภา และให้ขีดเส้นตายว่า ภายในวันที่ 1 ธันวาคม ต้องไม่มี สว.ขี้ข้าเผด็จการในการเมืองไทย และเรียกร้องให้ทุกคนต่อสู้เคียงบ่าเคียงใหล่กันจนกว่าจะถึงเส้นชัย

จะเห็นว่า ทั้ง 3 คน เมื่อขึ้นเวที เห็นคนเป็นหมื่นเป็นครั้งแรกมารวมตัวกัน จึงมีความฮึกเหิม คิดว่าประชาชนทั้งประเทศอยู่ข้างตัวเอง ความฮึกเหิมทำให้ขาดความระมัดระวัง ทำให้การปราศรัยของทุกคนน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ทั้งสิ้น ที่เบาที่สุดน่าเป็นนาย อานนท์ นำภา ที่เป็นนักกฎหมาย จึงค่อนข้างระวังคำพูดพอสมควร แต่สำหรับนาย ภานุพงศ์ กับ น.ส.ปนัสยา ชัดเจนว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112

การปราศรัยของคนทั้ง 3 จะเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่มีข้อสังเกตคือ การชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” มีข้อเรียกร้องที่ประกาศไว้ก่อนการชุมนุม 3 ข้อคือ ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน แต่ในการปราศรัย แทบจะไม่มีใครแตะ 3 ข้อเรียกร้องที่ประกาศไว้เลย โดยเฉพาะผู้ปราศรัยหลักทั้งสามล้วนพุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

ข้อสังเกตอีกประการคือ ความเข้าใจของแกนนำว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนพวกตนนั้นไม่ได้เป็นจริงตามนั้น เมื่อนายภานุพงศ์และแกนนำคนอื่นๆถูกจับกุมดำเนินคดี ก็ไม่ได้มีประชาชนทั้งแผ่นดินออกมาประท้วง ตามที่คุยไว้ มีแต่แนวร่วมของขบวนการนี้เพียงไม่กี่คน เส้นตายที่นายอานนท์ กำหนดว่าต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญไม่ให้มีสว 250 คน ก็ไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งนาpอานนท์และพวกก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย และการชุมนุมที่จัดว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก มีอีก 2 ครั้งคือ การชุมนุมวันที่ 19 กย 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และสนามหลวง กับอีกครั้งในวันที่ 16 ตค ที่ 4 แยกราชประสงค์ จากนั้นเป็นต้นมา การชุมนุมแต่ละครั้งมีจำนวนผู้ชุมนุมน้อยลงเรื่อยๆ ขาดพลังลงเรื่อยๆ แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้น

ปัจจุบัน แกนนำจำนวนมากของขบวนการนี้ถูกดำเนินคดีกันคนละหลายคดี กระแสต้านมีมากขึ้น แสดงออกมากขึ้น ขบวนการนี้จึงดูเหมือนจะอ่อนกำลังลง ไม่น่าเชื่อตามที่คุณ วิโรจน์ ลักขณาอดิศรอ้างว่า หากพรรคก้าวไกลไม่ดำเนินการผลักดันเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ม็อบจะยิ่งรุนแรงขึ้น แต่น่าเชื่อในทางตรงข้ามมากกว่าว่า เป็นเพราะปลุกม็อบไม่ขึ้น ในระยะหลัง จัดชุมนุมกี่ครั้ง ก็ไม่สามารถเรียกคนมาลงถนนได้มากอย่างที่ต้องการได้ จึงหันมาใช้กระบวนการทางรัฐสภาผ่านพรรคการเมือง ซึ่งจะอย่างไรก็เป็นการดีกว่าไปก่อกวนสร้างความเดือดร้อนอยู่บนท้องถนน

บัดนี้กระแสสังคมชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้แตะต้องมาตรา 112 พรรคเพื่อไทยที่ตอนแรกทำท่าขึงขังก็กลับลำ พรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 พรรคอื่นๆก็ทำท่าจะไม่เอาด้วยทั้งสิ้น ทำให้พรรคก้าวไกลถูกโดดเดี่ยว การยื่นขอแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของอ.ปิยบุตร หรือแม้แต่แก้ไขในทางใดก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จมีน้อยมาก และหากจะยกเลิกไปเลยอย่างที่ม็อบต้องการ ยิ่งไม่มีความเป็นได้เลยแม้แต่น้อย
คำถามคือ ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วพวกเขายังไม่หยุด ยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่ออะไร

Exit mobile version