Truthforyou

พลังงานเคาะเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าชุมชน 100-150 เมกะวัตต์!?!นำร่อง3จังหวัด เฉพาะไบโอแมสและไบโอแก๊ส

เดิมกระทรวงพลังงานประมาณการว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้ได้เป้า 1,933 เมกะวัตต์ (MW) แต่ ณ ปัจจุบันถูกลดขนาดลงเป็น โครงการนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์เท่านั้นเพราะสถานการณ์สำรองไฟฟ้าของประเทศอยู่ในภาวะล้นเกิน จึงได้ปรับเกณฑ์ให้มีขนาดเล็กลงและชุมชนได้มีส่วนรวม เชื่อมโยงกับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานเพื่อสร้างงานสร้างรายได้เพิ่ม ภายใน 1 ปีสามารถสรุปบทเรียนประกอบการตัดสินใจได้ว่า แนวทางพลังงานของประเทศที่สอดคล้องกับการพัฒนาพลังงานสะอาดของโลก โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมควรจะพัฒนาไปในทิศทางใด สามารถทำโดยอิสระหรือต้องประคับประคองโดยภาครัฐและภาคเอกชนต่อไปในอนาคต

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าโรงไฟฟ้าชุมชน อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดที่จะต้องตอบโจทย์ให้ประโยชน์ตกกับเกษตรกรโดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานใหม่เพื่อเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ 

ภายในสัปดาห์หน้าจะเข้าไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางในการกำหนดพื้นที่ปลูกพืชเพื่อใช้เป็นเชื่อเพลิงในโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งต้องดูศักยภาพของพื้นที่ว่าสามารถปลูกได้เพียงพอหรือไม่ ขณะที่รายละเอียดของการตั้งโรงไฟฟ้าต่อไปนี้จะกำหนดรายละเอียดโดยจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ภายในเดือนต.ค.นี้และเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้

“ต่อไปนี้คงไม่ได้เรียกว่าโครงการควิกวิน(โครงการเร่งด่วน)แล้ว แต่จะเรียกว่าโครงการนำร่อง ที่กำหนดโควต้าให้กับโรงไฟฟ้าที่เข้าเงื่อนไข มีการสร้างใหม่ เกิดการลงทุน จ้างงาน และสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับคนที่พื้นที่ โดยจะนำร่องประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ กำหนดให้มีการใช้พืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นโรงไฟฟ้าเดิมที่มีการทำงานอยู่แล้ว ขายไฟอยู่แล้ว และจะมาเข้าโครงการนี้ คงจะไม่ตอบโจทย์ในการสร้างงาน หรือเพิ่มการลงทุน ซึ่งต้องไปดูว่าพื้นที่ปลูกมีได้มากน้อยเพียงใดเพราะต้องใช้พื้นที่มาก เกษตรกรอาจจะต้องรวมตัวกัน”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ได้ปิดกั้นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีความพร้อมหากแต่จะต้องปรับให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่เช่นเดียวกันกับบริษัท จำกัด(มหาชน) หากจะดำเนินการร่วมกับชุมชนก็ไม่ได้ปิดกั้นเช่นกันแต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์  โครงการนำร่องจะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนประมาณ 33 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์-ขอนแก่น และอุบลราชธานี การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ จะทำให้เกิดเม็ดเงินในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมเงินที่กระจายไปสู่ชุมชนด้วย

เปิดเกณฑ์ใหม่โรงไฟฟ้าชุมชน

  1. เปิดโครงการนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ใน 1 ปี
  2. รับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff
  3. เชื้อเพลิง 2 ประเภทคือ ชีวมวลกับก๊าซชีวภาพ
  4. สัญญารับซื้อไฟฟ้าแบบ non-firm
  5. เอกชน กับภาครับถือหุ้น 90% ชุมชนถือหุ้นบุริมสุทธิ 10%
  6. เปิดประมูลราคารับซื้อไฟฟ้า
  7. ทำ Contract farming กับชุมชน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขและเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้ร่างไว้แล้วว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่ อย่างไร ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)และกพช.ต่อไป

“เงื่อนไขร่างไว้แล้วแต่จะต้องหารือกับทุกส่วนก่อน เบื้องต้นเชื้อเพลิงจะต้องปลูกไม้โตเร็ว และก๊าซชีวภาพที่มาจากพืชพลังงานเท่านั้นเป็นไบโอแมสและไบโอแก๊สที่มาจากพืช ส่วนของเดิมที่ให้ผสมผสานกับพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)นั้นก็คงจะต้องตัดไป ในส่วนของเกษตรกรที่จะให้ถือหุ้นบุริมสิทธินั้นก็อาจจะเปลี่ยนไปรับซื้อราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ให้กับเกษตรกรแทนแต่ค่าไฟจะเพิ่มหรือไม่คงจะต้องไปดูเทคโนโลยีด้วย”นายประเสริฐ กล่าว

นายวิบูลย์  ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการหาความชัดเจนเรื่องของกรอบและแนวทางปฏิบัติในการจ้างงาน รวมถึงอยู่ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจโรงไฟฟ้าว่าจะสามารถเพิ่มเติมส่วนใดได้บ้าง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถทำให้เกิดการจ้างงานได้ 2,000 อัตรา ซึ่งหากสามารถเก็บข้อมูลได้ชัดเจนแล้วว่า พื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้ามีเกษตรกรปลูกพืชชนิดบ้าง รวมถึงสภาพของพื้นที่ และจำนวนประชาชนในชุมชนมีความหนาแน่นแค่ไหน ก็จะพิจารณาว่าควรจะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดใดบ้าง  และมีตลาดรองรับหรือไม่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนต่อไป

Exit mobile version