Truthforyou

โบว์อบรมไอติม! พระมหากษัตริย์ฟ้องเองไม่ควร สอนม.112″ปกป้องตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวบุคคล”

จากที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งกลายมาเป็นให้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากนั้น

ทั้งนี้เนื้อหาที่นายพริษฐ์ ได้โพสต์มีบางช่วงว่า ผมไปร่วมลงชื่อ # ยกเลิก112 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

คนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ แต่เมื่อจำเลยถูกตัดสินว่าผิด ความคับแค้นใจก็ไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณีโดยอัตโนมัติ แม้ในบางครั้งสถาบันฯ อาจจะไม่รับรู้ก็ตาม

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ หลายประเทศจึงมีการระบุ ‘ผู้ฟ้อง’ อย่างชัดเจน อาทิ พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชกระแสรับสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินคดีผ่านสำนักราชเลขาธิการ (สหราชอาณาจักร นอร์เวย์) การให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (ญี่ปุ่น) หรือกระทรวงยุติธรรม (เดนมาร์ก) เป็นคนฟ้องเท่านั้น

ในการฟ้องร้อง จะต้องได้รับการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้เสียหาย หากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดทำผิดจริง บุคคลนั้นก็ยังได้รับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป (ซึ่งข้อนี้สามารถถกเถียงกันได้ว่าโทษจำคุก 0-2 ปี ฐานหมิ่นประมาท ณ ปัจจุบัน เป็นระยะเวลาที่สูงไปแล้วหรือไม่ ไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม)

ล่าสุดวันนี้ 6 พฤศจิกายน 2564 โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงการแก้ไข หรือ ยกเลิกมาตรา112 อีกครั้ง ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการให้ข้อมูลไว้ในทวิตเตอร์ หลายข้อความด้วยกัน ตามลำดับดังนี้

เวลาใครบอกว่าอยากให้การหมิ่นประมาทเป็นแค่โทษทางแพ่งเพื่อส่งเสริม free speech และให้สังคมรู้จักอดทนอดกลั้นนี่ คือคุณกำลังบอกว่าให้คนถูกละเมิดอดทนต่อการกระทำของผู้ละเมิดนะคะ

นอกจากนี้ในทางปฏิบัติศาลแทบไม่จำคุกใครด้วยข้อหาหมิ่นประมาทจากการกระทำผิดครั้งแรก โทษปรับทั้งนั้น ถ้าตัดสินจำคุกก็รอลงอาญา แต่การมีโทษจำคุกอยู่มันทำให้สังคมรู้สึกถึงน้ำหนักความผิด ความร้ายแรงต่อชีวิตคนผู้ถูกกระทำ ผู้เสียหายได้สัมผัสความยุติธรรมจากการตัดสินนั้น แม้จะเป็นการรอลงอาญา

แม้จะเป็นคดีจราจรก็ยังมีโทษหนักเบาไปตามฐานความผิด อะไรที่มันแย่มากกับสังคมก็มีโทษจำคุก เพื่อบอกว่าการกระทำอย่างนี้มันหนัก ไม่ใช่เรื่องเล่นๆแบบแค่จอดรถผิดที่นะ แต่คุณเมาแล้วขับ มันทำร้ายคนอื่นได้ ถึงเวลาก็อาจรอลงอาญา แต่กฎหมายมันบอกให้คุณรู้ว่ากรรมนี้หนัก อย่าทำแล้วคิดจ่ายค่าปรับ

 

การให้กษัตริย์ฟ้องเองไม่ควรอยู่แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่าท่านรู้สึกอย่างไรแล้วโยนให้ท่านตัดสินใจ เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้ปกป้องตัวบุคคล แต่ปกป้องตำแหน่งประมุข จึงเป็นเรื่องของรัฐ ของประเทศ ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล

ทางแก้ปัญหาคือให้มีองค์กรทำหน้าที่ https://thaipost.net/news-update/18353/ สุดท้ายก็แล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ในสภาค่ะ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 น.ส.ณัฏฐา  ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก และทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ ถึงเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ว่า สิ่งที่ควรพูดกันตรงๆ คือ ตัวบทบัญญัติมีปัญหาในหลักกฎหมายที่ควรปรับปรุงได้จริง ส่วนการละเมิดที่เกินเลยและ “ผิด” ก็มีจริง ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปให้ท้ายกัน ต้องตรงไปตรงมากับสังคม จึงจะเกิดบรรยากาศที่คุยกันรู้เรื่อง

การปรับปรุงกฎหมายที่น่าพิจารณาคือ แยกความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายออกจากกันเพื่อให้กฎหมายมีความละเอียดขึ้น แล้วกำหนดบทลงโทษของแต่ละฐานความผิดให้เหมาะสม รวมถึงกำหนดองค์กรที่จะมีอำนาจฟ้องร้องได้เพื่อไม่ให้ใครฉวยโอกาสใช้ กม.เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน จะได้คัดกรองคดีที่มีน้ำหนักจริง ซึ่งเป็นประโยชน์

ทุกฝ่ายมีสิทธิรณรงค์ค่ะ ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่ อยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ในสภา ก็ต้องเคารพกันตามกลไกประชาธิปไตย #ไม่ยกเลิก112 #สนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายทุกมาตรา

Exit mobile version