Truthforyou

พันธมิตรให้ความก้าวหน้า!!จีนหนุนงบฯก.อุดมศึกษาฯกว่า 76 ล้านบาท ลุย 7 โครงการ

ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่สมาชิกมีความเชื่อมโยงผ่านแม่น้ำสายเดียวกัน เชื่อมเศรษฐกิจข้ามพรมแดนถึง 6 ประเทศ โดยช่วงที่ไหลผ่านมณฑลยูนนานของจีน จะคุ้นเคยกันในชื่อ “หลานชาง” หรือ “ล้านช้าง” เมื่อไหลผ่านลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา ก่อนสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม จะคุ้นเคยกันในชื่อ “แม่โขง” ความร่วมมือนี้พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 ต่อมาได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2564 (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Mekong – Lancang Cooperation Special Fund 2021) ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ 5 ปี 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะนำไปสู่การสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปันเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่งคั่งในอนาคตต่อสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง สำหรับในปี 2564 ไทยได้รับการอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณภายใต้ร่างบันความเข้าใจจำนวน 7 โครงการ รวมเป็นเงิน 2,396,800 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยประมาณ 76 ล้านบาท ดังนี้

1.โครงการแนวทางใหม่เพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง วงเงิน 420,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2.โครงการควบคุมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่ วงเงิน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3.โครงการยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาค แม่โขง – ล้านช้าง ครบวงจรและการสำรวจสุขภาพของแมลงผสมเกสร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร วงเงิน 416,100 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4.โครงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มมูลค่า โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อความมั่นคง และความยั่งยืน วงเงิน 339,200 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

5.โครงการระบบจัดการฐานข้อมูลดิจิทัลด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง สำหรับหนุนเสริมการค้า ข้ามพรมแดน วงเงิน 157,600 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น

6.โครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสุขภาพที่ให้การดูแล ด้านมารดาทารกกับชนกลุ่มน้อยใน สปป. ลาว และเวียดนาม วงเงิน 184,900 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมหาวิทยาลัยบูรพา

7.โครงการพัฒนาระบบติดตามและประเมินปริมาณผลผลิต พืชเศรษฐกิจในกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ วงเงิน 479,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ

Exit mobile version