รับนทท.ต่างชาติยังราบรื่น?!?กว่างโจวกลุ่มแรกกักตัวภูเก็ต ลุ้นเพิ่ม ขณะหอการค้ายันนักธุรกิจรอเข้าอีก 11,000 คน

1997

มาถึงวันนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นไปในทางเดียวกันว่า เราจำเป็นต้อง “เปิดประเทศ”ก่อนที่เศรษฐกิจจะดิ่งลึกจนกู้ไม่ขึ้น  แต่ต้องเป็นการเปิดแบบ “ระมัดระวัง” ไม่ปล่อยให้เชื้อไวรัสจากต่างประเทศเข้ามาระบาดจนมีเคส “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” เพราะหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เศรษฐกิจไทยนอกจากไม่ดีขึ้นแล้ว ยังเผชิญความยากลำบากสาหัสมากขึ้นด้วยซ้ำ นอกจากการเปิดประเทศรับ “นักท่องเที่ยว” แล้ว ภาครัฐให้ความสำคัญกับกลุ่ม “นักลงทุน” หรือ “นักธุรกิจ” เพิ่มเพราะประเทศไทยยังต้องพึ่งพา “การลงทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศ”ด้วย หากควบคุมได้ดีคาดขยายผลรับไฮซีซันปลายปีแน่ ต้องลุ้นกันถอยไม่ได้แล้ว

นักท่องเที่ยวเข้าไทยใช้วีซ่าพิเศษ-STV

นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) แบบ จำกัดจำนวน” โดยจะเป็นการเปิดประเทศแบบจำกัด คือ จำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวประเภทอยู่ยาว 90-270 วัน 

-วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ไฟเขียวแง้มน่านฟ้า สายการบินและสนามบินเตรียมพร้อมรับนักเดินทางท่องเที่ยวและทำงาน

-วันที่ 8 ตุลาคม 2563 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เที่ยวบินแรกที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจากเมืองกว่างโจวจำนวน 150  คน เดินทางมากับสายการบินแอร์เอเชียแบบเช่าเหมาลำมาสนามบินภูเก็ต  

-วันที่ 25 ตุลาคม 2563 เดินทางเข้ามาเพิ่มเติมอีกใน จำนวน 126 คน กับสายการบินไทยสไมล์ มาสนามบินสุวรรณภูมิ 

-วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย 120 คน มากับสายการบินไทย มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ

หลังจากตรวจคัดกรองก็จะเข้ากักตัวยังสถานที่ ASQ สนามบินภูเก็ตจะเป็นด่านแรกที่ต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคตามปกติ สำหรับ ASQ ที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้มีอยู่ในหลายจังหวัด เช่น จ.ภูเก็ต จ.บุรีรัมย์ จ.ชลบุรี เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวแสดงความจำนงกักตัว 14 วัน ซึ่งต้องกักทุกคนไม่มีข้อยกเว้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวสัปดาห์ละ 300 คน

ระเบียบมาตรการที่กำหนดไว้ นักท่องเที่ยวทุกคนต้องปฏิบัติดังนี้ 1.เมืองกว่างโจว เป็นเมืองที่ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19ในประเทศ หรือปลอดเชื้อมานานหลายเดือนแล้ว 2.นักท่องเที่ยวต้องได้รับการตรวจว่าไม่มีเชื้อโควิด-19จากต้นทาง 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย 3.มีการจองสถานที่ ASQ (Alternative State Quarantine) ไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นเวลา 14 วัน 4.มีการทำบัตรประกันสุขภาพ กรมธรรม์คุ้มครอง 100,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อเกิดเจ็บป่วยจะสามารถรักษาพยาบาลได้ตามความคุ้มครอง โดยไม่กระทบกระเทือนค่าใช้จ่ายประเทศไทย 5.ทำวีซ่าเข้าประเทศเบื้องต้น 90 วัน หากมีความต้องการอยู่ต่อจะต่อวีซ่าให้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 270 วัน 6.ต้องทำตามมาตรการสาธารณสุขของไทยอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนาามัย ล้างมือและ เว้นระยะห่างทางสังคม

หากมาตรการที่ปฏิบัติข้างต้น ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะนำผลสรุปของการทดลองเปิดให้ต่างชาติเข้าไทย เสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยจะเสนอให้ขยายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามา

เตรียมเปิดรับนักธุรกิจเพิ่มภายใต้กฎระเบียบที่รัดกุมควบคุมโควิด-19 เข้มข้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้อนุมัติให้นักธุรกิจและผู้มีใบอนุญาตทำงานเดินทางเข้าประเทศมาแล้ว จำนวนประมาณ 11,000คน และคนกลุ่มนี้ได้ยอมรับการเข้ากักตัวในสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) 14วัน

แต่ทั้งนี้ เนื่องจากนักธุรกิจกลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้ามาเป็นระยะสั้น จึงควรต้องมีมาตรการพิเศษในการกำกับดูแล ซึ่งในเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เตรียมนำเสนอมาตรการในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เพื่อนำข้อสรุปเสนอท่านนายกรัฐมนตรีต่อไป

โดยคาดว่ามาตรการที่เตรียมเสนอมีดังนี้1) มีผลตรวจโควิด-19 (RT-PCR) ไม่เกิน 72ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย 2) มีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 ในวงเงินไม่น้อยกว่า 1 แสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐ 3) ตรวจหาเชื้อ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงและเมื่อเดินทางออกจากประเทศไทย ที่ช่องทางเข้า-ออกประเทศไทย 4) ให้มีผู้ติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุขตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย หรือเงื่อนไขอื่นๆที่เหมาะสม 5) ให้เดินทางโดยยานพาหนะที่เตรียมไว้ ตามแผนการเดินทางที่กำหนดเท่านั้น 6)ให้มี ติดตั้ง Application ติดตามตัวเพื่อสามารถตรวจสอบได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย

เจโทรเชียร์เปิดเพิ่ม-หอการค้าไทยเสนอแยก 3 กลุ่ม

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยเปิดเผย ว่า ขณะนี้นักธุรกิจต่างชาติต้องการเข้ามาไทยจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้ต้องมาประสานงานด้านธุรกิจและการลงทุนในไทย โดยเฉพาะปลายปีจะเป็นช่วงหน้าหนาวของกลุ่มประเทศยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น คนเหล่านี้ก็จะหนีหนาวมาเที่ยวประเทศไทย เชื่อว่าจะฟื้นเศรษฐกิจของไทยได้ดี

สำหรับกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามาในไทยประเมินว่าอาจมีจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักธุรกิจที่เข้ามาเจรจาการลงทุน 2.นักธุรกิจที่เข้ามาสับเปลี่ยนการบริหารตามวงรอบ เช่น ปรับการบริหารทุก 3 เดือน 6 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจจากญี่ปุ่น  3.กลุ่มนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค เช่น เข้ามาติดตั้งเครื่องจักรภายในโรงงาน ช่างอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะนักธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเชิญชวนมาลงทุน แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักไป เช่น นักธุรกิจญี่ปุ่น 7-8 หมื่นคน ที่เข้ามาทำงานไทยช่วงเวลาหนึ่งจะหมุนเวียนกลับไปญี่ปุ่นและมีคนใหม่มารับหน้าที่ต่อ 10% หรือ 7-8 พันคน

นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าไทยได้ ส่งผลกระทบ 2 ด้าน ได้แก่ 

1.ผู้บริหารและพนักงานญี่ปุ่นในไทยที่หมดวาระตามปีงบประมาณของญี่ปุ่นเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ต้องเดินทางกลับประเทศ แต่ผลัดใหม่เข้าไทยไม่ได้จึงกระทบธุรกิจในไทย เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ต้องทำงานหนักขึ้นแทนเจ้าหน้าที่ที่เดินทางกลับ ไม่สามารถส่งไม่ต่อการทำงานได้นานหลายเดือน แต่หลังจากช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ แม้จะต้องกักตัว 14 วัน แต่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา

2.กลุ่มนักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องมาเจรจาธุรกิจในไทย ซึ่งเดินทางมาเพียง 1-2 วัน ไม่สามารถเข้าไทยได้ เพราะต้องกักตัว 14 วัน และกลับไปกักตัวที่ญี่ปุ่น 14 วัน ทำให้เสียเวลา 1 เดือน ต่อการเดินทาง 1 ครั้ง ถือว่าใช้เวลามาก รวมทั้งมีปัญหาโรงงานที่สร้างสายการผลิตใหม่ แต่ช่างเทคนิคเดินทางมาติดตั้งเครื่องจักรไม่ได้

เจโทรต้องการให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหานี้เร็วสุด แต่ญี่ปุ่นเข้าใจรัฐบาลไทยและขอบคุณที่ควบคุมการระบาดในไทยได้ดีทำให้ชาวญี่ปุ่นปลอดภัยจึงเข้าใจแนวคิดการจัดการปัญหาของรัฐบาลไทย ซึ่งจากการพูดคุยเห็นว่ามีหลายบริษัทจะลงทุนในไทยเพิ่มและขยายกำลังการผลิต ซึ่งต้องยอมรับต่อการที่ต้องเสียเวลาเพิ่ม บางบริษัทต้องใช้วิศวกรเข้ามาในไทยเพิ่ม เพื่อเข้ามาเร่งทำงานชดเชยกับที่ต้องกักตัว 14 วัน

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมองไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญเพราะโครงสร้างพื้นฐานดีและลงทุนสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจึงเป็นจุดแข็งของไทย ดังนั้นนักลงทุนญี่ปุ่นมองไทยเป็นศูนย์กลางขยายฐานการผลิตย่อยไป 4-5 ประเทศ รอบไทย โดยบริษัทญี่ปุ่นอยากให้รัฐบาลปรับปรุงระเบียบศุลกากรเพื่อให้การนำเข้าส่งออกชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมคล่องตัว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลผ่อนคลายแต่ต้องควบคุมเข้มงวดจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ซึ่งการเปิดให้เข้ามาต้องดูประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อและเป็นประเทศที่ปลอดภัย เพราะการติดเชื้อในต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นการเลือกประเทศที่เปิดรับน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันไว้ก่อน

นอกจากนี้ ควรแยกพิจารณารายกลุ่มว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ชัดเจน ประกอบด้วย1.กลุ่มนักธุรกิจที่จะเข้ามาเพียง 2-3 วัน  2.กลุ่มนักธุรกิจต่างชาติที่ถือบัตรเอเปก (APEC Business Travel Card) 3.กลุ่มนักธุรกิจที่เป็นสมาชิก Elite Card ส่วนนักธุรกิจอยู่ในประเทศขณะนี้เป็นพวกที่ต้องมาทำงานหรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามรอบ โดยคนเหล่านี้จะมีใบอนุญาตทำงาน (Work permit) และเมื่อครบกำหนดจะเดินทางกลับประเทศและมีคนใหม่มาแทน แต่เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐ

“แม้ภาคเอกชนต้องการให้ต่างชาติเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การเข้ามาต้องมีความปลอดภัยหากเข้ามาแล้วเกิดมีปัญหาก็ไม่ต้องการให้เข้า และรัฐบาลต้องกำหนดมาตรควบคุมคนแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน เข้ามาแล้วต้องกักตัว 14 วัน ทางกระทรวงการต่างประเทศต้องตรวจสอบที่มาที่ไปของคนที่จะเข้ามาด้วย” นายกลินท์ กล่าว