หลังจากที่ได้มีการจัดพิธีรับ-ส่งมอบหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระหว่างพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 12 อย่างเป็นทางการเป็นแล้วนั้น
ล่าสุดที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้อง คดีหมายเลขดำ อท.148/2563 ที่นายสันธนะ ประยูรรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลย (ฟ้องเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา) ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
คำฟ้องโจทก์ระบุคดีนี้สืบเนื่องจากมีหลักฐานว่า เมื่อระหว่างปี 2544-2547 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สมัยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 7 ซึ่งมีเงินเดือนเพียง 30,000 บาทเศษ แต่มีเงินเข้าออกบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวนกว่า 13 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มานอกเหนือจากเงินเดือนปกติของข้าราชการตำรวจ โดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ตาม ม. 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
โจทก์ได้เคยยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามเลขรับที่ 19822 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2562 แล้ว ต่อมาวันที่ 27 ส.ค. 2563 โจทก์ได้ยื่นเอกสารต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ต้องออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัยกับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทันที ต้องจัดเตรียมข้อมูลประกอบการพิจารณาคัดเลือก เสนอชื่อข้าราชการตำรวจเพื่อดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แต่ได้บังอาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ออกคำสั่งดังกล่าว และไม่นำหนังสือร้องคัดค้านของโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนที่สุด บรรจุเข้าในวาระประชุมของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ โดยช่วยเหลือและปกปิด ทำให้ที่ประชุมลงมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พฤติการณ์และการกระทำนี้ส่งผลกระทบและความเชื่อมั่นของประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม กระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเหตุให้ราชการเสียหายเป็นการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจซึ่งไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงความอาวุโสประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติประกอบตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ศาลพิเคราะห์คำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีหน้าที่ป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยและดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการทางวินัยกับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แต่จำเลยหาปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้นไม่ กลับกระทำการช่วยเหลือปกปิด ไม่นำเรื่องที่โจทก์ร้องคัดค้านเข้าวาระการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งและเสนอชื่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และบรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยบังอาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัย พล.ต.อ.สุวัฒน์ เพื่อช่วยเหลือให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เท่านั้น
โดยไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่า การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น จำเลยกระทำด้วยเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างไร อันเป็นองค์ประกอบความผิดประการหนึ่ง แม้ในฟ้องของโจทก์จะบรรยายต่อมาว่า ผลแห่งการกระทำของจําเลยทำให้โจทก์ไม่ได้รับความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ เคยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่บิดเบือนแทรกแซงคดีของโจทก์มาโดยตลอด ก็เป็นเพียงการบรรยายให้เห็นพฤติการณ์ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ เท่านั้นหาใช่เป็นการบรรยายให้เห็นถึงเจตนาพิเศษในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยไม่
คำฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่งอีกประการหนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้นเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน และเป็นความผิดต่อรัฐเท่านั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยตรง และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายได้
แต่การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวหาได้เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยตรง และก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์โดยตรงไม่ โจทก์ย่อมไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พิพากษายกฟ้อง