จับตา กบฎพปชร. จะโหวตคว่ำกฎหมาย หวัง บีบนายกฯลาออก หรืออีกทางเลือก คือ “ยุบสภา” หรือไม่?

1657

หลังจากที่สภาผู้แทนฯ จะเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง โดยประธานชวน หลีกภัย นัดประชุมวันที่ 3-5 พ.ย.นี้ พิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ 7 ฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ , ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล , ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานคดีอาญา และร่างพ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐ ก็เพิ่งผ่านสงครามภายในมาหมาด ๆ งานนี้ทำให้น่าจับตามอง ว่าจะต้องเจอศึกแทรกซ้อนในสภาอีกหรือไม่

โดยการโหวตร่างพ.ร.บ. อาจจะเป็นจุดกดดัน ที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก หรือไม่ก็ต้องยุบสภา ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้ เหมือนกับบทเรียนในสมัยของ “ป๋าเปรม” ซุ่งวันที่ 1 พ.ค.2529 รัฐบาล พล.อ.เปรม ยุบสภา หลังแพ้โหวต พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ.2522

โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้รถที่ซื้อใหม่และใช้น้ำมันดีเซล ต้องเสียภาษีมากกว่าธรรมดา 2 เท่า เพราะไม่ต้องการให้สั่งน้ำมันดีเซลเข้ามามากเกินจำเป็น แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนถึงกับต้องออกเป็นพระราชกำหนด และรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทย แต่กลับขึ้นภาษีเครื่องยนต์ดีเซลขัดกับนโยบาย

เมื่อมีการลงมติครั้งแรก ปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดนี้ 140 ต่อ 137 เสียง จึงมีการลงมติครั้งที่ 2 ด้วยการ “ยืนขึ้น” ซึ่งมีผู้ลงมติไม่อนุมัติ 143 ต่อ 142 เสียง จึงมีการลงมติครั้งที่ 3 ด้วยการ“ขานชื่อ”อีกครั้ง พบว่ามีผู้ไม่อนุมัติถึง 147 เสียง ต่อ 143 เสียง ในจำนวนนั้น มี ส.ส.สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคกิจสังคม ลงมติไม่อนุมัติถึง 38 คน และไม่อยู่ในห้องประชุมอีก 6 คน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภา ในเวลา 23.30 น.ของวันเดียวกัน

นอกจากนี้ ในวันที่ 29 เม.ย.2531 พล.อ.เปรม ยังตัดสินใจ ยุบสภาอีกครั้ง แต่ไม่ได้เกิดจากการแพ้การลงมติ แต่เกิดจากปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรี 16 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกทั้งหมด เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณี ส.ส.ของประชาธิปัตย์ 32 คน คาดว่าเป็น ส.ส.ในกลุ่ม “10 มกรา” ลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของรัฐบาล แม้รัฐบาลจะได้เสียงข้างมาก 183 เสียงต่อ 134 เสียง ในการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว

พล.อ.เปรมไม่ต้องการปรับคณะรัฐมนตรี หรือลาออก แต่ให้เหตุผลในพระราชกฤษฎีกายุบสภาว่า เป็นเพราะพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการภายในพรรคได้อย่างมีเอกภาพ สะท้อนถึงปัญหาความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์เพราะไม่พอใจการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นจุดกำเนิดของกลุ่ม “10 มกรา”

ทั้งนี้น่าจับตามองการโหวตร่างพ.ร.บ. ทั้ง 7 ฉบับที่จะเข้าสภา เพราะแหล่งวงในของพรรคพลังประชารัฐ ก็เพิ่งออกมาตอกย้ำว่า อาจจะมีการหักหลังกันเกิดขึ้น เพราะสมาชิกก็ไม่วางใจในจุดยืนของ “ธรรมนัส-วิรัช” เพราะอาจจะวางเกมสอดรับกับความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า หากล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงได้ ร.อ.ธรรมนัส และนายวิรัช จะดึง ส.ส.เพื่อไทย บางส่วนมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงกรณีที่ทั้ง 2 คน เป็นตัวตั้งตัวตีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบกว่าพรรคอื่น ๆ

และที่ผ่านมาก็มีกระแสออกมาอย่างต่อเนื่อง ว่ามีเบื้องหลังสั่งการให้ล้มพลเอกประยุทธ์ให้ได้ ดังนั้นในช่วงเวลานี้ ส.ส.พปชร.จึงต้องการให้ ร.อ.ธรรมนัส และนายวิรัช แสดงจุดยืนในที่ประชุม รวมทั้งแถลงข่าวให้ชัดเจนว่า จะไม่หักหลังกัน รวมทั้งบทเรียนการแพ้โหวต จนนำไปสู่การยุบสภา หรือไม่นายกฯก็ต้องลาออกนั้น จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ หากเป็นเช่นกัน ก็ยิ่งแน่ชัดแล้วว่า อนาคต “บิ๊กตู่” เตรียมไปอยู่พรรคการเมืองใหม่แน่นอน