อังกฤษเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งและเข็มสอง ครอบคลุมประชากรสูงในระดับโลก จนอาจคิดว่าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ รัฐบาลอังกฤษจึงประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆด้วยความมั่นใจ ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและทำมาหากินได้ใกล้เคียงกับปกติตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 แต่ปัจจุบันสถานการณ์พลิกผัน อังกฤษกลับมาติดโควิด-19 ระบาดใหม่อีกรอบโดนไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสถล่ม ประเทศไทยกำลังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังประมาทไม่ได้ ต้องสรุปบทเรียนจากอังกฤษ และฟังหมอเฉลิมชัยเปิด 9 ข้อทำความรู้จักโควิดกลายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ซึ่งขณะนี้ไทยพบป่วยแล้ว 1 ราย
สำหรับประเทศไทย น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” โดยมีข้อความว่าไทยพบไวรัสเดลตาพลัส (Delta Plus) รายแรกที่จังหวัดอยุธยา แพร่ระบาดเร็วขึ้น 15%
หมอเฉลิมชัย ระบุว่า หลังจากที่มีข่าวการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ เดลตาพลัสในอังกฤษ โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อ 6% จนทางการอังกฤษจัดให้เป็น VUI (Variant Under Investigation) หมายถึงโควิดกลายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างสอบสวน เนื่องจากมีความสามารถในการระบาดเพิ่มขึ้น 15% แต่ยังไม่ได้ยกระดับขึ้นเป็นไวรัสที่น่าเป็นกังวล : VOC (Variant of Concern) เพราะยังขาดข้อมูลเรื่องความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน
ไวรัสเดลต้าพลัส เป็นปัจจัยที่ทางอังกฤษให้ความสนใจ เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการระบาดระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนต่อวัน คาดว่าไม่ได้เกิดจากปัจจัยไวรัสเดลต้าพลัสเพียงลำพังโดดๆ แต่น่าจะเกิดจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆเพื่อเปิดเมืองของทางการอังกฤษ ร่วมกับการที่ประชาชนอังกฤษหย่อนวินัยในการป้องกันโรคระบาด
ในเดือนกันยายน 2564 จากการถอดรหัสตามปกติ ได้พบผู้ติดเชื้อที่จังหวัดอยุธยา เป็นไวรัสเดลตาพลัส ( AY.4.2) จึงสมควรที่จะทำความรู้จักไวรัสก่อโรคโควิด และไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ย่อย เดลตาพลัส ดังนี้คือ
1.โควิดเกิดจากไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7
2.ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ที่มีดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมคู่
3.สิ่งมีชีวิตสารพันธุกรรมเดี่ยว จะมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย
4.จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา ขณะนี้มีจำนวนโดยประมาณมากกว่า 1,000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย
5.ในการแบ่งกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ จะใช้เรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน โดยกลุ่มที่ถือว่ามีความสำคัญก็คือ กลุ่มที่น่ากังวล (VOC) ได้แก่ แอลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลตา
6.ในกลุ่มไวรัสเดลตานั้น พบสายพันธุ์ย่อยแล้วกว่า 20 สายพันธุ์ โดยในเดือนสิงหาคม 2564 ไทยพบสี่สายพันธุ์ย่อย ซึ่งไม่มีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าพลัส
7.ไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัส เป็นสายพันธุ์ย่อย จากสายพันธุ์ที่เคยพบเมื่อเดือนสิงหาคมแล้ว และขณะนี้พบระบาดในประเทศอังกฤษด้วย
8.ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยได้พบไวรัสเดลต้าพลัสหนึ่งราย นับเป็นรายแรกที่จังหวัดอยุธยา
9.เดลต้าพลัส เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อย ที่พบว่ามีการระบาดกว้างขวางรวดเร็วกว่าไวรัสเดลต้า 15% ส่วนความรุนแรงในการก่อโรคและการดื้อต่อวัคซีนยังไม่มีการรายงาน
นพ.เฉลิมชัยย้ำเตื่อนว่า เชื้อโควิดสายเดลตาพลัส แพร่รวดเร็วขึ้น 15% เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตาปกติ จึงสมควรจะต้องระมัดระวัง แต่ยังไม่ต้องตระหนกตกใจ เพียงแต่ให้ตระหนักว่า ไวรัสมีความสามารถในการปรับตัวเก่งมาก มนุษย์จึงต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง การเร่งฉีดวัคซีน ตลอดจนให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่รัฐบาลจะต้องระดมออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดครั้งนี้