เปิดเส้นทาง “นฤมล”จากดร.สมคิด สู่บิ๊กป้อม! โบกมือลาพปชร.พร้อมธรรมนัส??

1627

จากที่รายงานข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ 7 คนเข้าพบหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยได้มีการหารือกันถึงปัญหาภาบในพรรคพลังประชารัฐนั้น

ทั้งนี้รัฐมนตรีที่เข้าพบพลเอกประยุทธ์ ประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม , นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม , นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้าประมาณ 1 ชั่วโมง

โดยรายงานข่าวแจ้งว่าที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรค ทั้งกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค การทำโพลภายในที่ทำให้ส.ส.หลายคนอึดอัดและไม่พอใจ และเห็นว่าหากปล่อยให้มีปัญหาแบบนี้ต่อไปอาจทำให้มีปัญหามากขึ้น ซึ่งจะปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐโดยใช้วิธีให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ 26 คน ลาออกเกินกึ่งหนึ่งเพื่อเปิดทางให้มีการจัดประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีรายงานว่าจะดำเนินการยื่นหนังสือลาออกในวันที่ 26 ต.ค. นี้ และไม่เพียง ร.อ.ธรรมนัสเท่านั้น ที่รายงานข่าวว่าอาจจะพ้นจากเลขาฯพรรค แต่ยังอาจมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ด้วย???

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี 2 คน คือ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

สำหรับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เธอเป็นอดีตอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า  และเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยการเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีความใกล้ชิดกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ชักชวนเธอเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ขุนคลังยุค คสช. ถือเป็นเด็กปั้นอนาคตไกลของ นายสมคิด ที่สนับสนุนบทบาทใหม่ในเส้นทางนี้อย่างเต็มที่ โดยมีโอกาสโชว์ผลงานอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมคิดนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน เป็นต้น

จนกระทั่ง เส้นทางการเมืองของนางนฤมล ก็เรียกว่าพบกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อเป็น ส.ส. และเข้ามาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ได้รู้จักกับ ร.อ.ธรรมนัส และได้มีโอกาสร่วมติดตาม ร.อ.ธรรมนัส ไปช่วยปราศรัยหาเสียงให้นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้สมัครของพรรค ในการเลือกตั้งซ่อมที่จ.เชียงใหม่ เขต 8 ช่วงกลางเดือน พฤษภาคม 2562

นอกจากนี้ นางนฤมล ยังเคยได้รับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การสนับสนุนของร.อ.ธรรมนัส  ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐบาลด้วย แต่การเป็นโฆษกรัฐบาลของนางนฤมลไม่ค่อยราบรื่นนัก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานอยู่เสมอกระแสกดดันเหล่านี้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จนเริ่มออกอาการไม่ปลื้มในตัวนางนฤมล

ต่อมาช่วงที่การเมืองภายในพลังประชารัฐร้อนระอุ มีการกดดันขับไล่กลุ่ม 4 กุมาร ให้พ้นจากพรรค พร้อมๆ กับการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคของพล.อ.ประวิตร ในเวลาต่อมา ซึ่งตอนนั้นนางนฤมล เปิดเผยตัวตนชัดเจนแล้วว่า เลือกอยู่กับพลเอกประวิตร และห่างจากกลุ่ม 4 กุมาร และนายสมคิดที่ปลุกปั้นเธอเข้าสู่เส้นทางการเมือง กระทั่งนางนฤมลได้กลายเป็นคนโปรดของพลเอกประวิตรไปในที่สุด

นับว่าช่วงนั้น นางนฤมลถือว่า ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร ประกบติดไม่ห่าง โดยเฉพาะในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เรียกได้ว่าเห็นความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าวของนักการเมืองในพรรคเลยทีเดียว จนล่าสุดก็ได้ถูกปลดจากรัฐมนตรี แต่พลเอกประวิตรก็ยังขอให้อยู่ช่วยในพรรคพลังประชารัฐต่อไป

กระทั่งล่าสุดกับกระแสข่าวที่ลือออกมาหนาหูว่า นางนฤมล อาจต้องพ้นจากตำแหน่งสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ ไปพร้อมๆกับ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งพรรคจะมีการปรับโครงสร้างใหม่ ท่ามกลางรายงานที่ว่า นับแต่มีปัญหากับบิ๊กตู่ในครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับเรื่องราวที่ถูกพูดถึงกับมากขณะนั้นว่า มีคนคิดการใหญ่ต้องการโค่นนายกนั่นเอง???