โพลทำพิษ! ขุดลึกเส้นทาง”ธรรมนัส” ผงาดเลขาฯ ก่อนลือสนั่น อาการหนัก ไม่รอดเตรียมถูกปลด?

1257

หลังจากที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” แถลงลาออกจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ และขอกลับไปเป็น ส.ส.พะเยา เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวก็ผ่านหลายกระแสมากมาย จนเมื่อวันที่ 15 ก.ย. กลางวงประชุมของพปชร. ร.อ.ธรรมนัส ได้กล่าวยืนยันในที่ประชุมว่า

“ตอนแรกผมจะไม่อยู่ ใจอยากกลับไปอยู่ที่บ้านทำธุรกิจ เป็นราษฎรธรรมดา มากกว่าทำการเมือง ซึ่งท่านประวิตรขอให้อยู่ช่วยกันทำงาน ถ้านายรัก อนุญาตให้ทำงานต่อ ก็จะไม่ออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถ้าท่านประวิตรอยู่ผมก็ยินดีที่จะอยู่ต่อ ผมเกิดจากพรรคนี้ก็พร้อมจะอยู่ตรงนี้ ถ้าจะจบชีวิตการเมืองก็ขอให้จบที่พรรคพลังประชารัฐ ยึดที่นี่เป็นที่พึ่งพิง ขอให้พลังประชารัฐเป็นบ้านสุดท้ายของผม” โดย ร.อ.ธรรมนัส กลับมาทำหน้าที่เลขาธิการพรรคดังเดิม แม้จะถูกจับตาอย่างต่อเนื่อง ว่าไม่ลงรอยกับพลเอกประยุทธ์ เพราะไม่ตอบที่ผู้สื่อข่าวถามถึงการเสนอชื่อแคนดิเคตนายกฯ แต่โยนให้บิ๊กป้อมเป็นผู้ตัดสินใจ


ล่าสุดก็กลับมาเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในแวดวงการเมือง และยังส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐเกิดแรงกระเพื่อมอีกครั้ง หลังจากที่มีการเปิดเผยผลการจัดทำโพลสำรวจกระแสความนิยมของ ส.ส.พปชร.ทั่วประเทศ มีหลายเขตที่ได้ไม่ถึงเกณฑ์ โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ยืนยันว่าเป็นการสำรวจประเมินการ ทำงาน หาจุดอ่อนเพื่อนำมาปรับปรุงพรรคให้ดีขึ้น

โดยมีการอ้างรายงานข่าวว่า เรื่องโพลนี้ได้ทำการสำรวจ ส.ส.ของพรรคในภาคใต้ทุกจังหวัด จำนวน 14 คน และมีการอ้างว่ามีโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น และข่าวนี้ย่อมสร้างความปั่นป่วนขึ้นมาพอสมควร โดยเฉพาะย่อมสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับบรรดาส.ส.ของภาคใต้ ที่ถูกมองว่าส่วนใหญ่ไม่มีผลงาน ไม่ได้รับความนิยม ไม่มีฐานเสียงของตัวเอง

แม้ว่าทางด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะออกมายืนยันว่าไม่มีปัญหา แต่เมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาภายในพรรคก่อนหน้านี้ หลังจากรายงานผลสำรวจดังกล่าวออกมา เช่น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่แสดงออกในแบบไม่ใส่ใจ รวมทั้งยังแสดงความแปลกใจว่าทำไมถึงมีการเผยแพร่ออกไปข้างนอก หากเป็นเรื่องภายในพรรค

และในมุมตรงกันข้าม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค กลับยอมรับเรื่องโพล ว่าเป็นการสำรวจเพื่อสำรวจความนิยม เป็นเหมือนกับการตรวจสอบว่าที่ผ่านมา ส.ส.ได้มีการลงพื้นที่มากน้อยแค่ไหนอีกด้วย และอีกด้านหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นให้ส.ส. ได้ปิดจุดอ่อน ขยันลงพื้นที่มากขึ้นเพื่อให้เกิดผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย

นอกจากนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ว่า ขอยืนยัน ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประชุมพรรค และยังไม่มีการสั่งทำผลโพลสำรวจเพื่อวัดคะแนนความนิยมของพรรค หรือ ส.ส.ในพรรคแต่อย่างใด และขณะนี้ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำผลสำรวจออกมา ส่วนกระแสข่าวว่า มีการทำผลสำรวจออกมานั้น ก็จะต้องไปถามต้นทางนั้นๆ แต่ยืนยันว่าในพรรค พปชร.ยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใดสำหรับข้อสงสัยว่า การทำผลสำรวจความนิยม ส.ส.จะเป็นหน้าที่ของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า หรือไม่นั้น ยืนยันว่ายังไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะตนยังไม่มีข้อสั่งการใด ๆ ทั้งนี้น่าจับตามองในคำพูดของนายธรรมนัส ว่าอาจจะมีการสั่งให้ทำโพลจริง เพราะเจ้าตัวย้ำว่าเป็นคำสั่งของหัวหน้าพรรคให้ทำโพล แต่พลเอกประวิตร บอกปัด ว่าไม่ได้สั่งให้ทำ

ขณะที่ก็มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมาด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับแนวทางการทำงานหลังเปิดประชุมรัฐสภา 1 พฤศจิกายน รวมถึงกรณีแกนนำ พปชร.ทำโพลประเมินคะแนนนิยม

ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าตนและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่ได้สั่งทำโพล แต่มีการอ้างชื่อผู้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดความแตกแยกของ ส.ส.ในพรรค ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่าเพื่อยุติปัญหาจะต้องปรับโครงสร้างพรรค พปชร.อีกครั้ง จะให้คณะกรรมการบริหารพรรค (บก.บห.) ที่มีอยู่ 26 คน ยื่นลาออกเกินกึ่งหนึ่งในวันที่ 26 ตุลาคม เพื่อเปิดทางจัดประชุมเลือก กก.บห.ชุดใหม่

อีกทั้งยังมีรายงานว่า ในวันที่ 26 ตุลาคม แกนนำพรรคในสาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. มีการนัดหารือกันที่รัฐสภา คาดว่าเป็นการพูดคุยถึงเรื่องบทบาทการขับเคลื่อนพรรค หลังจากบรรยากาศภายในพรรคอยู่ในช่วงที่เกิดความไม่ชัดเจนหลายอย่างว่าจะเดินไปในทิศทางไหน อย่างไร

อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่า การเคลื่อนไหวและแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐรอบนี้ อาจจะทำให้ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ถูกปลดพ้นพรรคอีกครั้ง หลังจากมีประเด็นเรื่องความไม่ลงรอยในพัก อย่างไม่หยุดหย่อน จนอาจจะอยู่กันยาก ทำให้ต้องจับตาถึงการปรับโครงสร้างพรรคในครั้งนี้

ทั้งนี้เส้นทางชีวิตในแวดวงการเมือง ของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตา สถานะ ส.ส.-รมต. เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ที่ผ่านนั้น ร.อ.ธรรมนัส เริ่มต้นทำงานการเมือง เมื่อปี 2542 กับพรรคไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตรหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นหัวหน้าพรรค เป็นทีมงานเบื้องหน้า เบื้องหลังทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้งให้กับพรรคไทยรักไทย ทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ทำงานร่วมกับนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ และเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย

ร.อ.ธรรมนัส เข้าใกล้ตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มากที่สุด ในการเลือกตั้งในปี 57 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะถูกคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเสียก่อน และถือเป็นผู้มีอิทธิพล ที่ถูกคสช.เรียกเข้าค่ายทหาร-รายงานตัว เพราะเป็นแม่งานในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง-การ์ดนปช. และยังมีความเกี่ยวข้องกับคนใหญ่ คนโต ในแวดวงธุรกิจรักษาความปลอดภัย ตลาดคลองเตย-ตลาดนัดจตุจักร สลากกินแบ่งรัฐบาล สโมสรฟุตบอลพะเยาเอฟซี จนได้รับสมญานามว่าเป็น “ 5 เสือกองสลาก”

ทั้งนี้ร.อ.ธรรมนัส เคยเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนายทหารคนสนิทของทักษิณ ในฐานะกรรมการบริษัท รักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด จำกัด ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานกรรมการบริษัท

ส่วนชีวิตในเส้นทางการทหาร “ผู้กองธรรมนัส” ชื่อ-สกุลเดิม นายยุทธภูมิ โบพรหม-นายพชร โบพรหม หรือ นายพชร พรหมเผ่า นายมนัส พรหมเผ่า มีชื่อเล่นว่า “นัท” เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 (ตท.25) และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกันกับ “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” รับราชการครั้งแรกครอง “ยศร้อยโท” หรือ ร.ท.พชร พรหมเผ่า ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ หลังจากนั้นในปี 2536 ร.อ.ธรรมนัสต้องต่อสู้คดีในชั้นศาลออสเตรเลียข้อหาพัวพันยาเสพติดถึง 4 ปี

ในปี พ.ศ.2562 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลือก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมผ่า เป็นผู้แทนราษฎของประชาชนในเขต 1 จังหวัดพะเยาด้วยคะแนนเสียงจำนวน 52,417 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงมาก ทำให้น่าติดตามว่าหลังจากนี้เส้นทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะเป็นเช่นไร จะอยู่รอด หรืออยู่ยาก เพราะผ่านประเด็นการเมืองเดือดมาหลายรอบ และต้องต่อกรกับ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงาน และนายสันติ ที่เลือกอยู่ข้างนายกฯด้วย