Truthforyou

Facebook-Google เข้าข่าย!?ไทยเล็งเก็บภาษีดิจิทัลต่างชาติ15-25% ตามเกณฑ์ ‘โออีซีดี’

ข่าวดีเรื่องหนึ่งที่คนไทยรอคอยคือ การจัดเก็บภาษีรายได้บริษัทยักษ์ดิจิทัลต่างชาติที่มาทำมาหากินกับคนไทย แต่ปัจจุบันเราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.ย.2564 และมาวันนี้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือเรียกย่อๆว่า โออีซีดี ได้ผลักดันวาระการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก  ประเด็นนี้ไทยรีบสนับสนุน เพื่อสกัดบริษัทยักษ์ทั้งหลายโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำที่เรียกว่า แท็กซ์เฮเวน(Tax Haven) เป็นการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี ครม.ได้อนุมัติหลักการพร้อมเดินหน้าตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป

 

วันที่ 25 ต.ค.2564 น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบผลการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS” และการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีกรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 2 แนวทางได้แก่

Pillar 1 เป็นการกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษีตามมาตรฐานสากล ด้วยการเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ซึ่งต้องมีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านยูโร โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศผู้ใช้งานร้อยละ 25 ของส่วนกำไรที่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านยูโรและมีอัตรากำไรมากกว่า ร้อยละ 10  ของรายได้

ทั้งนี้คาดว่า Pillar 1จะสามารถนำข้อเสนอการจัดเก็บภาษีจากการปันกำไร มาบังคับใช้โดยการจัดทำความตกลงแบบพหุภาคี โดยจะเปิดให้ลงนามในปี 2565 และมีผลบังคับใช้ในปี 2566

สำหรับPillar 2 เป็นการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 15  โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป 

คาดว่า Pillar 2 จะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายที่ให้แต่ละประเทศไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายในได้ภายในปี 2565 และมีผลบังคับใช้ภายในปี  2566

ทั้งนี้OECD ได้แจ้งผลการประชุมว่า ณ ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 136 ประเทศ จาก 140 ประเทศ ที่เห็นด้วยหรือไม่คัดค้านต่อกรอบ Revised Inclusive Framework Statement  ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย ส่วน 4 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยได้แก่ ศรีลังกา ไนจีเรีย เคนยา และ ปากีสถาน

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังระบุว่า ผลของการประชุมดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิรูประบบภาษีโลกในยุคดิจิทัลที่มีความคืบหน้าและมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ(Tax Haven) สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี 

รวมทั้งการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อป้องกันประเทศต่างๆดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยการแข่งขันกันลดอัตราภาษี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศไทย นโยบายการค้าและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อผลกระทบของ Pillar 1 และPillar 2 กระทรวงการคลังจะได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของOECD

สำหรับผลกระทบของPillar 1 คาดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากข้อเสนอนี้ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่อยู่ในขอบข่ายของการปันกำไรจากPillar 1 โดยประเทศไทยจะมีโอกาสได้รับการปันกำไรในส่วนนี้ หากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หรือบริษัทดิจิทัลต่างๆมีการให้บริการและมีรายได้จากลูกค้าในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ล้านยูโร แม้ไม่ได้มาประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีเงินได้จากการขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศไทย

ส่วนผลกระทบของ Pillar 2  คาดว่าจะส่งผลกระทบทางบวกต่อการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทย กรณีบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและมีการวางแผนภาษีโดยการจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เป็นการรักษาฐานภาษีในประเทศ สร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตาม Pillar 2 อาจส่งผลกระทบต่อวิธีการส่งเสริมการลงทุนที่ใช้ภาษีในการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ 49 แพลตฟอร์มออนไลน์ จาก 15 บริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจโกยรายได้จากประเทศไทย มาขึ้นทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกฎหมายอี–เซอร์วิส กับกรมสรรพากรแล้ว มีผลให้มีการจัดเก็บได้ตั้งแต่ 1 ก.ย.2564 

สำหรับรูปแบบที่ถูกเก็บภาษีออนไลน์จะมีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ เช่น อเมซอน อีเบย์ 2.ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล 3.ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ เช่น จองโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน 4.ธุรกิจตัวกลาง อาทิ บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดีลิเวอรี ซึ่งการเรียกเก็บค่าจีพีจากร้านค้า และ 5.ธุรกิจที่มีรายได้จากการบอกรับสมาชิก เช่น บริการดูหนัง ฟังเพลง หรือเกมออนไลน์

นั่นหมายความว่าปัจจุบัน รัฐไทยมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแว็ต 7% จากเหล่าบริษัทข้ามชาติเหล่านี้  แต่มิติใหม่ที่น่ายินดีคือ ทั้งโลกต่างพร้อมใจกันจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรม เพราะบริษัทต่างชาติที่ดำเนินกิจการดิจิทัล อยู่ต่างประเทศ แม้ไม่มีสาขาในไทย ไม่ได้จดทะเบียนในไทย แต่ได้รับประโยชน์จากโลกโซเชียลที่คนไทยเห่อใช้กันอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้บริษัทยักษ์เทคทั้งหลาย ก็มีรายได้เข้าข่ายทั้ง พิลลาร์1 และ 2 ทำให้ไทยได้ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรายได้อย่างเป็นธรรมต่อไป แต่คงต้องรออีก 1-2 ปีจึงจะจัดเก็บได้ แค่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพกรคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งกำไรของบริษัทเหล่านี้มีจำนวนมหาศาลต่อปี เมื่อมีการเก็บภาษีตามเกณฑ์ของโออีซีดี จะทำให้เกิดรายได้จากส่วนนี้เป็นธรรมและมากขึ้นอย่างแน่นอน

Exit mobile version