จากที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หลายๆคนต่างตั้งคำถามสงสัยดังไปถึง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ที่ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญที่ถูกสืบทอดต่อกันมานานนั้น
ทั้งนี้เมื่อลองย้อนกลับไปดู ภายในเพจของ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯนายกองค์การบริหารฯคนใหม่ ยิ่งทำให้ได้ทราบถึงการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะก่อนที่ทางด้านของ ด้านเพจสาธราณะขององค์การบริหารจุฬา จะออกแถลงการดังกล่าว ทางด้านขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ก็ได้โพสต์ข้อความ พร้อมภาพที่หลายๆคนต่างตั้งคำถามในมุมมองต่อสถาบันฯ โดยมีรายละเอียว่า
หากความดีเปรียบเป็นสีขาว ความชั่วเปรียบเป็นสีดำ มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นสีเทา แต่ไม่ว่าจะเป็นสีเทาโทนไหน “ความเป็นมนุษย์” ล้วนเท่ากัน
เนื่องในโอกาสครบรอบ 99 ปี หนังสือ “มหาวิทยาลัย” สาราณียกรขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ราชาผู้เป็นที่รัก”
ด้วยจุดมุ่งหมายการศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ “การรับใช้ประชาชน” แผนกสาราณียกรขอเรียนเชิญพี่น้องชาวจุฬาฯ ทั่วไทย ทั่วโลก และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำความดี ที่มิใช่เพียงการบริจาคเงิน หากแต่เป็นการศึกษาและวิเคราะห์มุมมองประวัติศาสตร์หลากแง่มุม เพื่อประโยชน์แห่งประชาชนอย่างแท้จริง ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สาราณียกรภูมิใจนำเสนอ มหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาคม “ปิยมหาประชานุสรณ์” โดยภายในเล่มนี้ มีเนื้อหามากมายที่ชาวสาราณียกรได้ใช้ความเพียรพยายามและความมุมานะ ร้อยเรียงขึ้น เพื่อพินิจพิจารณามุมมองประวัติศาสตร์แห่ง “ความเป็นมนุษย์” ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
– ปลุกความ’ชังชาติ’ในตัวคุณ: วาทกรรมว่าด้วยสยามกับการเสียดินแดน
– “กบฏผีบุญ” เลือดอีสานหลั่งรินริมแผ่นดินรัชกาลที่ ๕
– การเลิกทาส ผลพลอยได้จากการสลายขั้วอำนาจ
– ความเชื่อเทวราชากับสังคมไทย
– บอกเล่าเก้าสิบ: บันทึกการสนทนาว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕
– #มาตรา๑๑๒ ราชนิติธรรมที่มาพร้อมกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
– ตุลามหาประชานุสรณ์ – เดือนตุลาฯ เป็นของประชาชน
ล่าสุดวันนี้ 26 ตุลาคม 2564 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ภาพหนังสือดังกล่าว พร้อมความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า
“หนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 เป็นหนังสือที่ตำรวจสันติบาลควรนำไปพิจารณา เฉพาะเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 4-5 รวมถึงพระเกียรติยศของพระบรมราชจักรีวงศ์
หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือเถื่อน เนื้อหาแม้ไม่มีอะไรใหม่เพราะส่วนใหญ่มาจากข้อเขียนนักวิชาการพ่อพันธุ์สองเขาสามกีบ ใช้หลักฐานอ้างอิงของพวกแนวความคิดเดียวกัน และเคยเผยแพร่มาแล้วในรูปแบบต่างๆ แต่นำมารวมเล่มเน้นตำหนิติเตียนแดกดันในหลวงรัชกาลที่ 5 หนังสือจึงใช้สมัญญานาม “ปิยมหาราช”
รายชื่อคณะบรรณาธิการ รายนามผู้เขียน พิสูจน์อักษร ไม่กล้าใช้ชื่อจริง แต่ใช้นามแฝงเพราะกลัวถูกฟ้องร้อง เนื้อหาสาระจึงเขียนแบบไม่ต้องรับผิดชอบ ส่วนเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์โดยใช้การตีความ ตีขุม ไม่น่าเชื่อถือ บางส่วนเป็นแค่ครูพักลักจำ เป็นเรื่องเล่า และขัดกันซึ่งวิธีการทางประวัติศาสตร์ อ่านไปก็เกาหัวไปครับ!”