เกษตรกรตะลึง!! “พิธา”ลงนครฯ โทษระบบอุปถัมภ์-ราชการล้าหลัง ทำมังคุดโล30

1599

จากที่วันนี้ 25 ตุลาคม 2564  เพจพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ก้าวไกลลงพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง โทษระบบราชการรวมศูนย์ล้าหลัง รวมทั้งคำพูดของพิธา เกี่ยวกับราคามังคุดที่อ้างว่าถูก โดยระบุถึงปัญหานั้นด้วย

ทั้งนี้เนื้อหาที่ เพจ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party  โพสต์ไว้ระบว่า Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ชัยธวัช ตุลาธน – Chaithawat Tulathon เลขาธิการพรรคก้าวไกล และนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ผู้บริหารส้มจี๊ด เครือข่ายธุรกิจเพื่อชุมชน ร่วมพูดคุยกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปี ตำบลยางค้อม อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อรับฟังและร่วมแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ

พิธาให้ความเห็นว่า ระบบราชการของเราล้าหลังจนเกินไป ในต่างประเทศรัฐบาลและหน่วยงานราชการมีส่วนสำคัญในการผลักดันและยกระดับการประกอบธุรกิจของชุมชน แต่สำหรับประเทศไทย เรากลับพบว่า หน่วยงานราชการกลับเป็นเหมือนเครื่องกีดขวางการประกอบธุรกิจเสียมากกว่า

“รัฐราชการรวมศูนย์ทำให้ เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ทำงานตอบสนองต่อกระทรวงที่กรุงเทพฯ แทนที่จะเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองต่อเกษตรกรในพื้นที่ ไม่นับรวมกับนโยบายการส่งเสริมต่างๆ ของภาครัฐที่อิงกับระบบอุปถัมภ์สูงมาก โครงการสนับสนุนต่างๆ ของรัฐมักจะลงเอยด้วยการสนับสนุนกลุ่มคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจแทนที่จะเป็นประชาชนทั่วไปจริงๆ”

นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ผู้บริหารเครือข่ายส้มจี๊ด กล่าวเสริมว่า “คนที่ไม่มีเส้นสาย ยากที่จะได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาอย่างจริงจังจากภาครัฐ และหากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ด้วย ก็จะไม่มีเครื่องจักรเพื่อยกระดับการผลิต สุดท้ายจึงต้องใช้กำลังคนในการผลิตซึ่งก็นับว่าน่าเสียดายมากๆ เพราะหลายธุรกิจเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ อย่างกรณีไวน์มังคุด แยมมังคุด มังคุดกวนของที่นี่ก็ยังต้องทำต้องกวนด้วยมือกันอยู่เลย”

พิธาให้ความเห็นปิดท้ายว่า รัฐบาลไทยมองมังคุดเป็นเพียงผลไม้ที่ขายกันในราคากิโลกรัมละ 30 บาท

ส่วนต่างประเทศมองไปไกลกว่านั้น พวกเขานำเข้ามังคุดแล้วนำไปทำเป็นสารสกัด Xanthone ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางแล้วส่งกลับมาขายที่ประเทศไทย

“เรามองว่า มังคุดเป็นราชินีผลไม้แต่กลับมีราคาแค่กิโลกรัมละ 30 บาท หากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์และความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้มีการแปรรูปและพัฒนามูลค่าสินค้าเกษตร เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าแค่การขายเป็นผลไม้เพียงอย่างเดียวอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาไปในทางนี้ได้รัฐต้องมีความจริงจังและจริงใจเป็นอย่างมาก

เพราะนอกจากจะต้องจัดสรรงบประมาณให้กับแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้พวกเขาได้กำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตัวของเขาเองแล้ว รัฐส่วนกลางก็ต้องกระจายอำนาจที่ตอนนี้รวมศูนย์ทุกการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลางกลับไปให้ท้องถิ่นเพื่อให้พวกเขาได้กำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเองอีกด้วย”

ด้านเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พร้อมรายงานราคามังคุดในพื้นที่ภาคใต้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ด้วยว่าโดยพาดหัวข่าวไว้ว่า “ชาวสวนมีคำตอบ ทำไมมังคุดราคาตก ? แนะจับตาผลไม้ภาคใต้”

ชาวสวนมังคุดนครฯ เผยมังคุดล้นตลาดทำราคาตก ขณะที่สถานการณ์ Covid-19 ซ้ำเติมปัญหาเหตุมาตรการล็อกดาวน์ห้ามเคลื่อนย้ายทำการขนส่งผลผลิตชะงัก ขณะที่ “มังคุด” จ.ชุมพร ส่งออกจีนไม่ได้ จ.ระนองไม่มีล้งเข้ารับซื้อมังคุด ขณะที่ เงาะโรงเรียน จ.สุราษฎร์ฯ ส่อแววล้นตลาด

จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้มีคำสั่งล็อกดาวน์และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานและออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำลัง โดยเฉพาะการเดินทางเข้าพื้นที่ ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 29 จังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายผลผลิตของชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมังคุดที่ขณะนี้ เป็นช่วงที่มังคุดออกสู่ท้องตลาดมากที่สุด และทำให้ราคาดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

น.ส.อ้อย สุวรรณคช ชาวสวนมังคุด จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงสาเหตุที่มังคุดราคาตกลงมากว่า ในช่วงนี้ผลผลิตมังคุดในพื้นที่จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ออกสู่ตลาดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จึงทำให้ผลผลิตล้นตลาด และราคาตก โดยทำให้ราคาพ่อค้ามารับซื้อที่สวนอยู่ที่ กิโลกรัมละ 5 -7 บาท ซึ่งราคาค่อนข้างต่ำ และเมื่อไปสู่ล้งราคาขายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท

“มังคุดที่คัดแล้วพวกผิวมัน ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 40 บาท ขณะที่พวกเกรดลูกดำหรือเล็กราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาท ปีนี้ราคาไม่ถึง 10 บาท ถือว่าราคาตกมากที่สุด ปีที่แล้วยังอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท ”

หรือในรายของกำนันที่มีสวนอยู่ในตำบลเดียวกัน ปลูกมังคุดราว 10 ไร่ เมื่อทราบว่าราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท ก็ตัดสินปล่อยให้สุกและร่วงคาต้น เนื่องจากไม่คุ้มค่าที่จะเก็บไปขาย

น.ส.อ้อย เล่าต่อว่า ทั้งนี้แนวทางการระบายผลไม้ นอกเหนือจากการให้พ่อค้ามารับซื้อที่สวนแล้ว อีกแนวทางที่ทำคือการขายในช่องทางออนไลน์ ซึ่งดำเนินการมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ โดยส่งไปยังจังหวัดภาคกลาง ภาคเหนือ ในราคาลังขนาดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม 300 บาท และ ขนาด 10 กิโลกรัม 600 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างเหมาะสม

แต่เมื่อมีคำสั่ง ศบค.ที่ต้องการควบคุมการแพร่ระบาด และสั่งล็อกกดาวน์ในพื้นที่ 29 จังหวัด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าออนไลน์ ที่ขณะนี้ไม่สามารถส่งมังคุดไปขายได้ เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งไม่ว่าจะเป็น รถไฟ หรือ รถ บขส.ก็หยุดให้บริการ รวมไปถึง เคอร์รี่ เจแอนด์ที เอสซีจี ล้วนแล้วแต่หยุดให้บริการ

(อ่านรายละเอียด https://news.thaipbs.or.th/content/306696)