เหิมไม่หยุด! “ปิยบุตร” โหนยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว ลั่นต้องปฏิรูปสถาบันฯ ศาล กองทัพด้วย สร้างฉันทามติใหม่ให้ชาติ?

1727

หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ซึ่งมีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้โพสต์แถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์

 

ล่าสุดนายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ออกมาเคลื่อนไหว ภายหลังประเด็นนี้เกิดขึ้น และได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ คือ หนทางสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่ชอบ ผ่านมาถึงวันนี้ ก็ต้องยอมรับตรงกันแล้วว่า ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ กลายเป็นประเด็นสาธารณะ เป็นประเด็นหลัก เป็นประเด็นหัวใจ ของสังคมไทย

นับตั้งแต่คณะทหารกลุ่มหนึ่ง ก่อกบฏ ยึดอำนาจ ตั้งตนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านการสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบันนี้ พวกเขาได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย แนวทางปฏิบัติจำนวนมาก จนทำให้ระบอบการปกครองที่เป็นอยู่โน้มเอียงไปทางระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น

การก่อรูปของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จำแลงแฝงกายในเสื้อคลุมของ “รัฐธรรมนูญ” “ประชาธิปไตย” “การเลือกตั้ง” ไม่สามารถครองใจคนได้ ไม่มีวันที่จะสร้างฉันทามติให้สังคมส่วนใหญ่ยินยอมพร้อมใจยอมรับได้ดังเช่น “ฉันทามติภูมิพล” (King Bhumibol Consensus) ที่ครองอำนาจนำในสังคมไทยได้ในอดีตอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตามที่นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้

หากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงนี้ ก่อรูปได้สำเร็จ ก็อาจปกครองคนได้จริง แต่มันคือการปกครองคนได้ด้วยความกลัว ด้วยกำลัง ด้วยกลไกรัฐจำพวกศาล ทหาร คุก ตำรวจ กฎหมาย มิใช่การยินยอมพร้อมใจโดยสมัครใจ

เช่นนี้แล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง จึงไม่มีทางตั้งมั่นได้อย่างยั่งยืน ยืนตระหง่านบนความเปราะบาง พร้อมที่จะพังภินท์ลงไปได้เสมอ
เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะอยู่อาศัยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงได้อย่างสันติ

ตรงกันข้าม การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต่างหาก ที่จะทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายล้าหลัง ทั้งคนที่รักสถาบันกษัตริย์ คนที่เฉยๆกับสถาบันษัตริย์ คนที่ไม่ต้องการมีสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งสถาบันกษัตริย์และองคาพยพรายล้อมเอง ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ จึงเป็นหนทางสร้างฉันทามติใหม่ให้แก่สังคมไทย ให้คนไทยได้อยู่ร่วมกันดังเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติอย่างสันติ
การเหนี่ยวรั้งขัดขวางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ การดึงดันก่อรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง คือ หนทางไปสู่ความขัดแย้งอันร้าวลึก
ประเทศไทย คนไทย ต้องการแบบไหน?”