Truthforyou

สัญญาณพร้อมรบ!?กองทัพจีน-รัสเซีย ส่งเรือพิฆาต 10 ลำแล่นผ่านช่องแคบญี่ปุ่น

บรรยากาศความมั่นคงโลก ดูเหมือนจะแบ่งเป็นสองขั้วฝ่ายตะวันตก-ตะวันออก คล้ายยุคสงครามเย็นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เห็นได้จากสถานการณ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ในขณะนี้ ที่ทุกฝ่ายมีการเดินเรือ ซ้อมรบกันอย่างเข้มข้น 

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า กองเรือรบรัสเซียและกองเรือรบจีนได้ทำการแล่นผ่านช่องแคบซึงารุ ช่องระหว่างเกาะฮอกไกโด กับจังหวัดอาโอโมริ ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชูญี่ปุ่น และถือเป็นครั้งแรกที่เรือรบของรัสเซียและจีน ล่องผ่านช่องแคบดังกล่าวร่วมกัน

ขณะเดียวกันโยชิฮิโกะ อิโซซากิ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงข่าวในกรุงโตเกียววันเดียวกันว่า เรือของกองทัพเรือจีนและกองทัพเรือรัสเซีย 10 ลำ แล่นผ่านช่องแคบซึงารุ ที่เชื่อมระหว่างทะเลญี่ปุ่นกับมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 

รองเลขาธิการฯกล่าวว่า “รัฐบาลกำลังจับตาดูกิจกรรมของเรือจากกองทัพเรือจีนและรัสเซียใกล้กับญี่ปุ่นเช่นในครั้งนี้อย่างใกล้ชิดด้วยความสนใจอย่างสูง” “ญี่ปุ่นจะยังคงทำอย่างเต็มที่ต่อไปในการเฝ้าตรวจกิจกรรมในน่านน้ำและน่านฟ้ารอบญี่ปุ่น”

ฝ่ายความมั่นคงญี่ปุ่นเปิดเผยว่า กองเรือรบจีนที่วนเวียนอยู่ทางภาคใต้ของญี่ปุ่นเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ได้แล่นขึ้นเหนือมาพบกับกองเรือรัสเซียในพื้นที่เกาะโอคุชิริ ทางตะวันตกของเกาะ ฮอกไกโด ก่อนมุ่งหน้าผ่านช่องแคบซึงารุในวันที่ 18 ต.ค. โดยกองเรือ 10 ลำ ประกอบด้วยเรือรบสมรรถนะสูง ฝั่งจีนเรือพิฆาตแบบพรางเรดาร์ชั้นเหรินไห่ เรือพิฆาตชั้นลู่หยาง-3 เรือฟริเกตชั้นเจียงไค และเรือเติมน้ำมันชั้นฝูฉี ฝั่งรัสเซีย มีเรือพิฆาตหลักชั้นยูดาลอย เรือลาดตระเวนชั้นสเตียเรกุชชี และเรือตรวจจับมิสไซล์ชั้นมาร์แชล เนเดลิน

ขณะที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ส่งเรือกวาดทุ่นระเบิด และเครื่องบินตรวจการณ์พีซี-3ออกมาจับตาอย่างใกล้ชิด แต่จากการตรวจสอบแล้วไม่พบว่า การแล่นเรือกองเรือรบของรัสเซีย-จีนละเมิดกฎหมายสากล หรือล่วงล้ำน่านน้ำญี่ปุ่นแต่อย่างใด

สำหรับช่องแคบซึงารุดังกล่าว ที่มีจุดที่แคบที่สุดกว้างเพียง 19.5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ทะเลที่ดูเหมือนจะเป็นน่านน้ำญี่ปุ่น เนื่องจากอยู่ระหว่างจังหวัดอาโอโมริ ทางภาคเหนือของแผ่นดินใหญ่ฮอนชู และจังหวัดฮอกไกโด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถือเป็นน่านน้ำสากล ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น หลังรัฐบาลสหรัฐฯมากำหนดไว้ให้น่านน้ำญี่ปุ่นในบริเวณดังกล่าว มีระยะห่างจากฝั่งเพียง 3 ไมล์ทะเล จากมาตรฐานสากล 12 ไมล์ทะเล เพื่อที่เวลากองเรือสหรัฐฯบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์แล่นผ่าน จะได้ไม่ละเมิดกฎหมายต้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า เรือของกองทัพเรือจีนและรัสเซียแล่นผ่านช่องแคบนี้ด้วยกัน แม้ช่องแคบซึงารุจะถือเป็นน่านน้ำสากล แต่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนมีความขัดแย้งกันมายาวนานเกี่ยวกับการอ้างสิทธิเหนือเกาะขนาดเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก และญี่ปุ่นยังมีข้อพิพาทดินแดนกับรัสเซียด้วยเช่นกัน  

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นการฝึกทางทะเลร่วมกันในทะเลญี่ปุ่น ของกองทัพเรือจีนและรัสเซียระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2564 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือยุทธศาสตร์ทางทะเลระหว่างสองประเทศ โดยเรือที่เข้าร่วมมีทั้งเรือรบและเรือสนับสนุนจากกองเรือแปซิฟิกทั้งของจีนและรัสเซีย และจัดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯส่งกองเรือแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นระยะๆ  

หลายปีมานี้ จีนและรัสเซียกระชับความสัมพันธ์ทางทหารและทางการทูตแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาตินี้ ต้องเผชิญกับการกดดันจากสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

กรณีนี้ สำนักข่าวโกลบอลไทมส์ของจีน เผยแพร่บทบรรณาธิการระบุว่า ความใกล้ชิดทางทหารระหว่างจีนและรัสเซียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทั้งสหรัฐฯ และตะวันตกไม่มีสิทธิ์ตัดสินเรื่องนี้ เรือของจีนและรัสเซียเพิ่งจะร่วมกันแล่นผ่านช่องแคบสึการุระหว่างเกาะฮอนชูของญี่ปุ่นและเกาะฮอกไกโด เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่สหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังทำ ความร่วมมือทางทหารระหว่างจีนและรัสเซียก็ถูกจำกัดไว้อย่างเหมาะสม  ทั้งสองประเทศฝึกซ้อมร่วมกันแต่ละครั้งเป็นการป้องกันโดยธรรมชาติ 

 

การกระทำและคำพูดของสหรัฐฯ และพันธมิตรมีความชัดเจนต้านจีนและพันธมิตร ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรออคัส(AUKUS) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงไตรภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างแท้จริง และกระทบกับสันติภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งจะส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก  ลองนึกภาพว่าวอชิงตันจะมีปฏิกิริยาอย่างไร หากปักกิ่งและมอสโกวช่วยประเทศคู่แข่งของสหรัฐฯ พัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์

ดังนั้นสหรัฐฯ ควรหยุดกดดันจีนและรัสเซียและปรับปรับแนวคิดด้านความปลอดภัยตลอดจนใช้ชีวิตอย่างสันติกับจีนและรัสเซียจะดีกว่า  ตราบใดที่วอชิงตันไม่ปลุกระดมหรือสร้างการเผชิญหน้าเชิงกลยุทธ์ระหว่างมหาอำนาจใหญ่ โลกก็จะสงบสุข

Exit mobile version