สืบเนื่องจากกรณีที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ปรากฏคลิปงานเลี้ยง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุย
ถึงงานการวางตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ถูกมองว่าอาจจะเป็นครอบงำพรรค นั้นว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องดูข้อเท็จจริง แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นข้อเท็จจริง มีแต่เพียงภาพข่าวเท่านั้น หากยังไม่รู้ข้อเท็จจริงก็ยังวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งทางสำนักงาน กกต. คงจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอยู่
ส่วนกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เตรียมยื่นกกต.ขอให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทยนั้น กรณีดังกล่าวต้องดูในข้อเท็จจริงที่มากกว่าที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ หากมีการนำกรณีดังกล่าวร้องต่อ กกต. ก็จะมีกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมายปกติ เหมือนกับทุกคำร้อง ส่วนจะตรวจสอบได้อะไรบ้าง ก็ต้องดูข้อเท็จจริงที่เขาร้อง ข้อเท็จจริงที่สอบได้ ตรวจสอบแล้วเข้าตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นนายทะเบียนพรรคการเมืองจะเป็นผู้ตรวจสอบ
ล่าสุดทางด้านนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart แสดงความคิดเห็นกรณีปรากฏคลิปงานเลี้ยง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยถึงงานการวางตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งถูกมองว่าอาจจะเป็นครอบงำพรรคหรือไม่ มีเนื้อหาดังนี้… “สงสารหุ่น ใครฟังคลิปที่อดีตนายกคุยกับลูกพรรค ทำนองว่า จะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าชนะแบบแลนด์สไลด์ แถมมีชื่อคนว่าที่นายกอยู่ในใจแล้ว เอ่ยชื่อมาฮือฮาแน่นอน ฟังแล้วคิดกันยังไง แรกสุดเลย สงสาร เห็นใจ คนที่นั่งเป็นหัวหน้าพรรคแต่ชื่อ กลายเป็นหัวหลักหัวอะไรก็ไม่รู้ มันยิ่งกว่าหุ่นให้เขาเชิด ถามนักกฎหมายที คำพูดอย่างนี้ ไม่เข้าข่ายครอบงำ แทรกแซงพรรค ต้องทำยังไงถึงจะเข้าข่าย กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา อย่าเอาวิธีคิดแบบกฎหมายอาญามาวินิจฉัยคดีฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แอบคุยกันเงียบๆก็ได้ แต่เล่นเผยแพร่เอง มันทำให้ชวนสงสัยในเจตนา”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า คลิปวิดีโอที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยกับ ส.ส.และผู้บริหารของพรรคเพื่อไทย กลางวงงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดนักการเมืองดัง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 64 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมาย หรือครอบงำ หรือชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องแยกออกเป็น 2 เรื่องคือ เรื่องแรก การที่นายทักษิณวิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยกับ ส.ส.และผู้บริหารของพรรคเพื่อไทย
อาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 และมาตรา 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” และ “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” หากฝ่าฝืนย่อมเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายดังกล่าว อาจเป็นเหตุให้ กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้นได้
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของการจัดเลี้ยงที่มีผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงจำนวนมาก โดยมีการเสิร์ฟอาหารหวานคาว และที่สำคัญมีการเสิร์ฟไวน์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 34 ที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ประกอบ ม.34 (6) ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ด้วย ซึ่งผู้ที่อยู่ในงานเลี้ยงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” แต่กลับปรากฏว่าได้กระทำเสียเอง ซึ่งอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะทำการไต่สวน วินิจฉัย และเสนออัยการฟ้องต่อศาลเพื่อลงโทษได้ ด้วยเหตุดังกล่าว