Truthforyou

เปิดไทม์ไลน์ ชนวนเหตุการณ์ สูญเสีย 2 บุคคลากร องค์การสวนสัตว์ หลัง “เก้งเผือก” หาย

จากกรณีเมื่อวันที่ 3 ต.ค.63 มีรายงานว่า นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ (บอร์ด) องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดเผยว่า นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถูกยิงเสียชีวิต

ในขณะเข้าไปตรวจสอบกรณีลูกเก้งเผือกจำนวน 1 ตัว ที่ได้จากการขยายพันธุ์ จากเก้งพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้สูญหายไปอย่างเป็นปริศนา ในช่วงเดือน ก.พ.63 ขณะจัดแสดง

(นายสุริยา แสงพงค์)

ต่อมาทางด้านนายภูวดล สุวรรณะ อายุ 49 ปี หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์สงขลา มือปืนยิงนายสุริยา แสงพงค์ เสียชีวิต ได้ยิงตัวเองเสียชีวิตแล้วที่ห้องพัก โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเดินทางเข้าตรวจสอบภายในบ้านพักหลังดังกล่าว

(นายภูวดล สุวรรณะ)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ด่วน!?! เจ้าหน้าที่มือยิงดับ ผอ.องค์การสวนสัตว์ ปลิดชีพตนหนีผิดภายในบ้านพัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น เราจะพาไปย้อนไทม์ไลน์ ชนวนเหตุของ”เก้งเผือก” สายพันธุ์พระราชทานหายปริศนา 1 ตัว และถูกอ้างว่างูเหลือมกิน 1 ตัว นำมาสู่เหตุสลด

กับคดีอาชญากรรมที่ต้องสูญเสีย “สุริยา แสงพงค์ – ภูวดล สุวรรณะ” 2 บุคลากรสำคัญขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ฝ่ายบำรุงสัตว์ สวนสัตว์สงขลา แจ้งว่า “เก้งเผือก”สายพันธุ์พระราชทาน 1 ตัวหายไปจากส่วนจัดแสดง

– วันที่ 18 เม.ย.2563 – สวนสัตว์สงขลา แจ้งพบซากกระดูกสัตว์อยู่ภายในส่วนจัดแสดงเก้ง สงสัยเป็นกระดูกเก้งที่หายไป พร้อมนำส่งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจสอบ

– วันที่ 15 พ.ค.2563 ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า แจ้งผลการตรวจสอบ กระดูกที่พบเป็นชนิดพันธุ์เก้ง ไม่สามารถระบุเป็นเก้งเผือกหรือไม่

– วันที่ 22 กันยายน 2563 ได้รับแจ้งลูกเก้งเผือกหายไปอีก 1 ตัว แต่มีการตรวจพบว่าถูกงูเหลือมกิน จึงมีการนำมาผ่าพิสูจน์พร้อมถ่ายภาพเป็นหลักฐานว่างูเหลือมกินจริงและไม่มีข้อสงสัยใดๆ

– วันที่ 1 ต .ค. 2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่านายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ (บอร์ด) องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย สั่งสอบข้อเท็จจริงเก้งหาย และในวันเดียวกันนั้น ได้มีการมอบหมาย นายอภิเดช สิงหเสนี รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ เป็นประธาน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้

– วันที่ 2 ต.ค.2563 นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ลงนามคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งบุคลลากรสวนสัตว์สงขลา เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ส่วนกลาง ระหว่างรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 4 ราย คือ

1.นายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา 2.นายภูวดล สุวรรณะ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา

3.นายอุทัย พูลยรัตน์ หัวหน้าโภชนาการสัตว์ รักษาการหัวหน้าฝ่ายบำรุงสัตว์ สวนสัตว์สงขลา และ 4.นายพิเชษฐ์ ทัปนวัชร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา โดยทุกคำสั่งให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2563 เป็นต้นไป

– วันที่ 2 ต.ค.2563เวลา 11.30 น.นายอภิเดช พร้อมคณะลงพื้นที่สวนสัตว์สงขลา พร้อมเรียกสอบพนักงานอย่างน้อย 5 ราย ช่วงค่ำ นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เดินทางมาสมทบที่ จ.สงขลาเพื่อร่วมสอบข้อเท็จจริง

– วันที่ 3 ต.ค.2563 เวลา 07.30น. นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เดินทางจิบกาแฟที่บ้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

เวลา 09.30 น. นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ไปตรวจสอบส่วนจัดแสดงเก้งพร้อมคณะทำงาน

เวลา 10.00น. นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เดินทางมาถึงอาคารสำนักงานสวนสัตว์สงขลา ณ ห้องทำงานของนายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผอ.สวนสัตว์สงขลา

เวลา 10.30 น.นายภูวดล สุวรรณะ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา เดินทางมายังสำนักงานฯและขึ้นไปพบนายสุริยา

เวลา 10. 40 น. มีเสียงทะเลากันเสียงดังพร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้นก่อน 2 นัดและตามมาอีกมากกว่า 10 นัด ก่อนที่จะมีผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่านายภูวดลเป็นคนยิงและเดินลงบันไดด้านหลังสำนักงานฯแล้วขับรถออกไป

เวลา 11. 30 น. ได้รับแจ้งนายภูวดล ยิงตัวเองเสียชีวิตที่บ้านพักภายในสวนสัตว์สงขลาห่างจากจุดแรกไม่มาก ขณะที่ “องค์การสวนสัตว์”หรือ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่มีการก่อตั้งสวนสัตว์ดุสิต ในปี พ.ศ.2481 ขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครกรุงเทพฯ หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ในแต่ละปีจะมีงบที่ใช้ดูแลพันธุ์สัตว์หายาก

องค์การสวนสัตว์ มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการให้การศึกษา การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ รวมถึงการจัดสวนสัตว์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป

โดยมีสวนสัตว์อยู่ในความรับผิดชอบ 8 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น และ โครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์

ทั้งนี้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ เพิ่งมีการปรับปรุงใหม่ และประกาศใช้เมื่อเดือน มิ.ย. 2563 นี้ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมบังคับใช้มานาน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 จึงมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ และอำนาจขององค์การสวนสัตว์ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ประกอบกับมีพระราชกฤษฎีกายุบเลิก สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้โอนสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งเป็นของสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ มาเป็นขององค์การสวนสัตว์ด้วย จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นมารองรับ

เมื่อตรวจสอบงบประมาณขององค์การสวนสัตว์ พบว่า ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 876 ล้านบาท (876,881,500 บาท) ขณะที่ปีงบประมาณ 2564

ซึ่งรอการบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ มีการตั้งงบประมาณรายจ่าย สำหรับองค์การสวนสัตว์เอาไว้ 829 ล้านบาท (829,944,900 บาท) ซึ่งนับว่าเป็นหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนไม่น้อย

นอกจากนั้น ยังมีเงินนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินรายได้ โดยคาดว่าเป็นรายได้จากการให้บริการสวนสัตว์ทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 325 ล้านบาท ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 338 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีงบประมาณ

สำหรับภารกิจสำคัญขององค์การสวนสัตว์ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ แต่มีระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งองค์กรคือ งาน “เพาะพันธุ์สัตว์” ซึ่งมีการกำหนดนิยามไว้ในกฎหมาย ว่า ขยายพันธุ์สัตว์ที่นำมาเลี้ยงไว้ โดยวิธีผสมพันธุ์สัตว์ และหมายความรวมถึงขยายพันธุ์สัตว์ โดยวิธีผสมเทียม หรือการย้ายฝากตัวอ่อน หรือโดยวิธีการอื่นๆ ด้วย

ขณะที่ตัวชี้วัดสำหรับการขอรับงบประมาณในปี 2564 มีการระบุภารกิจขององค์การสวนสัตว์เอาไว้ว่า “อนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยการเพาะขยายพันธุ์ เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญ และการฟื้นฟูเพื่อเพิ่มประชากรสัตว์ป่าในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ”

จากภารกิจขององค์การสวนสัตว์ ในด้านเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีผลประโยชน์จำนวนไม่น้อยซุกอยู่ใต้พรมในองค์การแห่งนี้หรือไม่

เพราะสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์เป็นที่ต้องการของบรรดานักสะสมสัตว์ และมีราคาสูงมาก หากบริหารจัดการอย่างไม่โปร่งใส อาจทำให้เกิดช่องโหว่หรือรูรั่วจนสร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน “เก้งเผือก” สายพันธุ์พระราชทาน เหลืออยู่ที่สวนสัตว์สงขลาเพียง 1 ตัว จากทั้งหมด 3 รุ่นโดยรุ่นแรกเป็นเก้งเผือกที่ชื่อ “เทียน” ซึ่งสิ้นอายุไปก่อนหน้านี้ แต่จากการขยายพันธุ์ได้เก้งเผือกรุ่นที่ 2 คือ “มูมู่” และรุ่นที่ 3 ก็คือเก้งเผือก 2 ตัว ที่ชื่อ “ภูมิ” และ “ภาค” ซึ่งหายปริศนา 1 ตัวและถูกงูเหลือมกิน 1 ตัว ปัจุบันจึงเหลือเก้งเผือก 1 ตัว คือ “มูมู่”

Exit mobile version