หลังจากนายกรัฐมนตรีฯพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาแถลง“เปิดประเทศไทย” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยเริ่มขยับตัวคึกคักอีกครั้ง มาเช็คดูความพร้อมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า พร้อมหรือไม่ที่จะรับความเสี่ยงเรื่อง การระบาดโควิด-19ท่ามกลางความหวังฟื้นรายได้จากการท่องเที่ยว
การเปิดประเทศรับต่างชาติอย่างเป็นทางการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุขั้นตอนปฏิบัติแบ่งเป็น 3 กรณี คือ
1.ผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางจากประเทศความเสี่ยงต่ำ ตรวจหาเชื้อผ่าน RT-PCR ไม่พบเชื้อ เดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ ตามแนวทางไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ เช่นเดียวกับคนไทยที่ฉีดวัคซีนครบโดส โดยรายชื่อประเทศจะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ และจะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงทุก 1-2 สัปดาห์
2.ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงระดับกลางขึ้นไป ต้องอยู่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดนำร่อง หรือการจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและรูปแบบการจัดการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) 17 จังหวัด โดยเปิดกิจกรรมได้ทุกประเภท ยกเว้นสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นที่ยังไม่อนุญาตให้เปิด รวมถึงห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน และ
3.ผู้ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส เดินทางเข้ามาได้ แต่ต้องกักตัวในสถานกักกันโรคที่รัฐบาลจัดสรรไว้ โดยหากเดินทางผ่านเครื่องบิน กักตัว 10 วัน เดินทางผ่านทางบก กักตัว 14 วัน
โดยคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ปรับลดเวลาการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในช่วงเวลากลางคืน หรือเคอร์ฟิว จากเดิม 22.00 น. ถึง 04.00 น. มาเป็น 23.00 น. ถึง 03.00 น. ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.เป็นต้นไป
ในการเร่งเดินหน้าเปิดประเทศนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีข้อเสนอ 4 ประเด็นขอให้รัฐทำเพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพ คือ
1.ภาครัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสื่อสารขั้นตอนการเดินทางเข้าไทยที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รวมถึงการเดินทางภายในประเทศ โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติได้ตรงกัน
2.ทยอยเปิดสถานประกอบการเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงในสิ้นปีนี้ และเร่งฉีดให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อรองรับการเปิดประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการ
3.นำระบบ Digital Health Pass ที่ได้มาตรฐานสากลมาใช้ติดตามประชาชน ที่จะเข้ามาให้บริการ และใช้บริการในสถานประกอบการต่างๆว่าได้รับวัคซีน หรือตรวจหาเชื้อโควิดแล้วหรือไม่ โดยจะเชื่อมข้อมูลของประชาชนกับกระทรวงสาธารณสุข เช่น หมอพร้อม หรือ MOPH IC ฐานข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุข และเปิดให้เอกชนเชื่อมต่อระบบได้ รวมถึงรัฐต้องขยายผลการเชื่อมต่อไปยังข้อมูลของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยด้วย
4.รัฐควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพื่อเป็นตัวช่วยใส่เม็ดเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายรายได้ และรักษาการจ้างงาน เพราะปีนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อาจไม่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้
ด้านความพร้อมนั้น ภาคธุรกิจโรงแรมและภาคบริการนั้นพร้อมแล้ว แต่ขอรัฐบาลประกาศกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเป็นเอกภาพจะได้ตอบลูกค้าได้ไม่สับสน
ขณะนี้กลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่พัก ซึ่งรอเวลานี้มานานแล้ว มีความพร้อมที่จะกลับมาเปิดให้บริการ และมีนักท่องเที่ยวจองที่พักและแพ็กเกจทัวร์เพื่อเข้ามามากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างแท้จริง คือ ความชัดเจนของกฎเกณฑ์การเปิดประเทศ เพื่อให้สามารถตอบคำถามต่างชาติได้อย่างครบถ้วน ไม่สับสน
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีความชัดเจนและประกาศรายชื่อประเทศ ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้ามาโดยไม่ถูกกักตัวแล้วนั้น การเตรียมความพร้อมในทางปฏิบัติ คงต้องแบ่งนักท่องเที่ยวเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากประเทศที่รัฐบาลประกาศไม่ต้องถูกกักตัว ก็ไปได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และนักท่องเที่ยวจากประเทศที่นอกเหนือจากนั้น ก็ให้เข้าไปในพื้นที่นำร่องหรือแซนด์บ็อกซ์ และต้องอยู่ในพื้นที่นั้นครบ 7 วันก่อน จึงจะไปพื้นที่อื่นได้
“การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โรงแรมคงไม่สับสน แต่การสื่อสารก็สำคัญ การที่นายกฯตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะเข้าใจดีและประสงค์ดีให้เศรษฐกิจเดินหน้า ให้ภาคท่องเที่ยวรับนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซันปลายปีนี้ได้”
สำหรับการเตรียมตัวรองรับของโรงแรมต่างๆนั้น ถ้าเป็นโรงแรมที่เปิดบริการอยู่แล้ว เช่น เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative Qarantine) ก็สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ทันที ส่วนโรงแรมที่ปิดตัวไป หรือเลิกจ้างพนักงาน ก็คงต้องเรียกพนักงานกลับมา ซึ่งยังมีเวลาเตรียมการได้ เพราะเชื่อว่านักท่องเที่ยวคงไม่กลับมาในช่วงแรกจำนวนมาก เช่น ไตรมาส 4 ปีนี้ หรือไตรมาส 1 ปีหน้า คงค่อยๆกลับมา เพิ่มดีมานด์มากขึ้น
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี และกรรมการผู้จัดการกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตเครือซันไซน์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ลูกค้าต่างประเทศที่กำลังจะจองมาเที่ยวพัทยาค่อนข้างสับสน เพราะพัทยากำลังจะเป็นพื้นที่นำร่องแห่งใหม่ที่รัฐบาลจะเปิดเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาได้ โดยต้องอยู่ในพื้นที่ให้ครบ 7 วัน แล้วจึงเดินทางไปพื้นที่อื่นได้ เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้
แต่ทันทีที่นายกรัฐมนตรี ประกาศเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ แม้เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ปัญหาที่เกิดกับโรงแรมในพัทยา คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังจะจอง หรือจ่ายเงินตามแนวทางต้องอยู่ในพื้นที่ 7 วัน ได้ชะลอการจองทันที เผื่อว่าจะมีเงื่อนไขใหม่ในการเข้าไทยตามแนวทางการเปิดประเทศ
นายธเนศกล่าวว่า“ความพยายามเปิดประเทศมากขึ้นเป็นนโยบายที่ดี แต่ภาคเอกชนขอความชัดเจน เพราะเวลามีเรื่องที่ตอบลูกค้าไม่ได้ ลูกค้าจะอารมณ์เสีย และชะลอการเดินทาง ทั้งๆที่เตรียมจะมาอยู่แล้ว”
ด้าน นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ทย.รับผิดชอบสนามบิน 29 แห่งทั่วประเทศ และได้เตรียมพร้อมทุกแห่งแล้ว ทั้งด้านระบบและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยดำเนินการตามมาตรการของสาธารณสุข อีกทั้งยังได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เตรียมพร้อมแล้ว เช่น ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง กักกันพืช กักกันสัตว์ ฯลฯ รวมถึงยังเตรียมความพร้อมระบบคัดกรองผู้โดยสารต่างประเทศ (APPS) สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอาคารที่พักผู้โดยสาร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ แอปพลิเคชันของ ทย. (flight info) และการติดตามตัวนักท่องเที่ยว ผู้เดินทาง โดยจะใช้แอปพลิเคชันของแต่ละจังหวัดที่สนามบินตั้งอยู่
ทั้งหมดนี้คือ ความพร้อมของภาคเอกชนที่พร้อมขยับตามการเปิดรับแขกบ้านแขกเมือง ขอให้รัฐบาลเดินก้าวแรกให้ถูกโดยสื่อสารให้ชัดเจนตรงกัน กันความสับสนและต้องรวดเร็วด้วย ด้านความเสี่ยงการระบาดโควิดระลอกใหม่ก็ไม่อาจประมาทต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่!!