จากที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความกรณี เบนจา และได้รวบรวมคดีมาตรา 112 ที่ผู้ชุมนุม รวมทั้งแกนนำกลุ่มราษฎร ถูกจับ ไม่ได้รับการประกันตัว รวมผู้ต้องขังทางการเมืองพุ่งเป็น 20 รายนั้น
ทั้งนี้ช่วงหนึ่ง เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุถึง “นัท เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกจับกุมเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน 2564 และถูกตำรวจแจ้งข้อหาถึง 8 คดีจากเหตุทุบ และเผาตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรในหลายจุด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีญาติเดินทางมารับรองการประกันตัว เยาวชนรายนี้ ถูกส่งไปควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ ที่บางนา (บ้านเมตตา)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ศูนย์ทนายความฯ ได้เปิดเผยถึงเรื่องราวของนัท อีกครั้ง หลังจากได้เดินทางไปเยี่ยมที่บ้านเมตตา โดยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กว่า
“นัท (นามสมมติ) คือ เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ผู้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่า เผาตู้สัญญาณไฟจราจร-ป้อมตำรวจ จำนวน 8 แห่ง ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 23 กันยายน 2564 และถูกกล่าวหาเป็น 8 คดีด้วยกัน ซึ่งต่อมาศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองเดินทางมารับรองการให้ประกันของศาลในวันนั้น
นัทจึงถูกส่งไปควบคุมตัวอยู่ที่ ศูนย์แรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 มาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ทนายความได้เดินทางไปที่บ้านเมตตาเพื่อพยายามขอเข้าเยี่ยมนัทแล้วหนึ่งครั้ง แต่ทว่าถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า การจะเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาได้นั้น ทนายความจะต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายผู้รับผิดชอบคดีก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเข้าเยี่ยมพร้อมผู้ปกครอง แต่ในกรณีของนัท ทนายไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยเข้าพบนัทมาก่อนอีกด้วย
ในวันดังกล่าว ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอมีสิทธิเข้าเยี่ยมนัท ต่อผู้อำนวยการสถานพินิจฯ โดยชี้แจงเหตุจำเป็นที่ยังไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ ต่อมาทนายจึงได้รับการติดต่อให้สามารถเข้าเยี่ยมด้วยวิธีการ วิดีโอคอลผ่านทางแอพพลิเคชันไลน์ ในวันที่ 5 ตลาคม 2564
เวลา 10.00 น. เมื่อทนายเดินทางไปถึงบ้านเมตตา เจ้าหน้าที่ได้เตรียมความพร้อมอุปกรณ์มือถือสำหรับวิดีโอคอลรอ แต่สัญญาณโทรศัพท์มีความขัดข้อง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์มือถือของทนายความแทน
นัทปรากฏตัว โดยสวมเสื้อของบ้านเมตตา ยืนอยู่ในห้องควบคุมด้วยท่าทางมั่นใจ สุขุม ด้านนอกมีนักจิตวิทยาเด็กคอยยืนถือโทรศัพท์มือถือ และร่วมรับฟังอยู่ด้วย ด้านทนายเองก็มีเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจฯ เข้าร่วมอยู่รับฟังการสนทนาอยู่ไม่ไกล จำนวน 2 คน
ทนายเล่าว่าในช่วงต้นของการเข้าเยี่ยมดำเนินไปด้วย ความยากลำบาก เนื่องจากในบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างอับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งทนายและนัทจึงทำได้แต่ทวนประโยคพูดของอีกฝ่ายไปมา จนกระทั่งเวลาล่วงไปเกือบครึ่งชั่วโมง
เมื่อพอจะพูดจากันรู้ความ ทนายจึงเริ่มพูดคุยซักถามประวัติส่วนตัวและภูมิหลังของนัท เด็กหนุ่มเล่าว่า เติบโตขึ้นมาในครอบครัวบุญธรรมตั้งแต่ยังมีอายุได้ไม่กี่เดือน ความไม่พร้อมทำให้ต้องออกการศึกษากลางคันขณะเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 2
วุฒิป.6 กลายเป็นวุฒิการศึกษาสูงสุดติดตัวของเด็กหนุ่มมาตั้งแต่นั้น นัทเริ่มทำงานหาเงินตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี พยายามหาทางรอดให้กับชีวิตทุกวิถีทางด้วยการทำงานรับจ้างเท่าที่เขาทำได้ ทำงานอยู่ที่ร้านเฟอร์นิเจอร์นานเกือบปี ก่อนจะย้ายมาเป็นลูกจ้างในร้านค้าน้ำกรองบรรจุขวด จนถึงตอนนี้ จนถึงปัจจุบัน นัทถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตาของสถานพินิจฯ มาเป็นระยะเวลากว่า 15วันแล้ว”