บิ๊กตู่ชื่นชมปชช.ใช้จ่าย!?!เงินสะพัด 9.6 หมื่นล้าน เล็งอัดงบฯเยียวยาน้ำท่วม

774

ท่ามกลางความยากลำบากจากน้ำท่วมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ยังทรงตัว ประชาชนได้ออกมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำเงินสะพัด 9.6 หมื่นล้าน ส่วนใหญ่พอใจมาตรการคนละครึ่ง ด้านรัฐบาลเตรียมพิจารณามาตรการรองรับ เยียวยาผลกระทบน้ำท่วม และรับมือสถานการณ์ผันผวนราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันในประเทศ ผลักดันต้นทุนการผลิตสินค้า ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดูแลปัญหาค่าครองชีพและการพักชำระหนี้ต่อ

เมื่อวันที่ 10​ ต.ค. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลัง ได้โอนเงินคนละครึ่งรอบที่ 2 จำนวน 1,500 บาท เข้าแอปฯเป๋าตัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่าง GRAB และ LINE MAN ได้ เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ขณะนี้ยอดรวมของมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 39.62 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 96,217 ล้านบาท แบ่งเป็น 

1) โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.81 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 82,670.2 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 42,032.9 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 40,637.3 ล้านบาท 

2) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 79,964 คน ยอดใช้จ่ายส่วนประชาชนสะสม 2,508 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 114 ล้านบาท 

3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.54 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 10,188.3 ล้านบาท และ 

4) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.19 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 736.5 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมที่ประชาชนมีการปรับตัวและทยอยออกมาใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่กันแล้ว มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลวางไว้ ทำให้วันนี้ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายและเศรษฐกิจกำลังมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ 

โดยยอดการใช้จ่ายโครงการสะสมผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มล่าสุด เพียง 4 วันแรก (4 –7 ตุลาคม 2564) ของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีการใช้จ่ายสะสม 112.4 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 57.9 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 54.5 ล้านบาท 

ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีการใช้จ่ายสะสม 94,703 บาท แล้ว ทั้งนี้ ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่าง GRAB และ LINE MAN ในการสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่ม โดยรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายแบบไม่รวมค่าจัดส่ง ซึ่งตอนนี้มีร้านค้าให้บริการผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มแล้ว กว่า 54,000 ราย ประชาชนสามารถสั่งซื้อได้ตั้งแต่เวลา 06.00 –20.00 น. ของทุกวัน

โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ตอนนี้ประชาชนมีการปรับตัวและทยอยออกมาใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่กันแล้ว ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID-Free Setting และทุกคนป้องกันตัวเองแบบสูงสุดครอบจักรวาล Universal Prevention ประกอบกับการที่รัฐบาลเดินหน้าฉีดวัคซีนตามแผน และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลเร่งรัดเดินหน้าเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยในทุกด้าน เพื่อให้สอคคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังคลี่คลาย” 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รัฐมนตรี และ ส.ส. ทุกคนติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาน้ำท่วม พร้อมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง และยังให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือสศช.) และกระทรวงการคลัง หารือถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมและหลังการแพร่ระบาดของโควิดก-19 คลี่คลาย ว่าจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งต้องดูให้สอดคล้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐพร้อมสนับสนุนนโยบายเปิดเมืองในพื้นที่ต่างๆ ให้มีความเหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละจังหวัดว่าจะเปิดเมืองในรูปแบบ หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติอย่างไร เพื่อเป็นกติกาในการดูแลนักท่องเที่ยวและคนพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันได้

นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้ว และกำลังเตรียมจัดมาตรการรับมือต่อเนื่อง ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอะไร  จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ประชาชนห่วงปัญหาปากท้องมากสุด อยากให้รัฐบาลพักชำระหนี้หลังโควิด-พร้อมขอให้ลดค่าครองชีพต่อ

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยว่า ได้สำรวจภาคสนาม เรื่อง ตามดูปัญหาปากท้องประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,100 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 กังวลมากถึงมากที่สุดเรื่องปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ หลังจากเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ร้อยละ 20.9 กังวลปานกลาง ร้อยละ 6.1 กังวลน้อยถึงไม่กังวลเลย

เมื่อถามถึงความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 49.5 ระบุด้านค่าครองชีพ ของกินของใช้ และสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ในขณะที่ร้อยละ 48.2 ระบุ ด้านแหล่งเงินทุน และช่วยภาคธุรกิจ ในค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ต้นทุนการผลิต และการส่งออก เป็นต้น และร้อยละ 2.3 ระบุอื่นๆ

ที่น่าพิจารณาคือ จากปัญหาน้ำท่วมประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยด้านต่างๆ มากที่สุด ได้แก่ ร้อยละ 45.6 ระบุ ช่วยเรื่องรายได้ ที่กระทบจากปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 25.5 ระบุ เรื่องที่อยู่อาศัยและพืชผลการเกษตรเสียหาย ร้อยละ 25.2 ระบุ เรื่องอาหาร และถุงยังชีพ และร้อยละ 3.7 ระบุอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความพอใจต่อนโยบายของรัฐบาล เรื่อง แก้ปัญหาปากท้องและค่าครองชีพใน 3 อันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.2 พอใจโครงการ คนละครึ่ง ร้อยละ 83.6 พอใจโครงการ ช่วยเหลือเยียวยา ทุกกลุ่ม ผ่าน อบต. และการปกครองท้องถิ่นอื่นๆ และร้อยละ 65.4 พอใจ โครงการ เราเที่ยวไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ความต้องการของประชาชนให้รัฐบาลช่วยหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 94.6 ระบุ การพักชำระหนี้กับสถาบันการเงิน และธนาคาร ร้อยละ 91.3 ระบุ ช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และอื่นๆ ไปถึงสิ้นปี ร้อยละ 88.5 ระบุ ลดหย่อนภาษี เว้นภาษีนิติบุคคล ตามเกณฑ์เหมาะสม และร้อยละ 79.2 ระบุ ช่วยธุรกิจขนาดกลางและย่อม ตามลำดับ

จับตามีลุ้นว่าพรุ่งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมาตรการใหม่ๆออกมาทันกับความเรียกร้องต้องการของประชาชนอย่างไร? โดยเฉพาะการลดค่าครองชีพ ที่ผ่านมามาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าซึ่งมีผลทำให้เงินเฟ้อของไทยอยู่ในภาวะสมดุล หากอิงตามสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันและก๊าซโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ไทยย่อมได้รับผลกระทบ ถ้าไม่มีมาตรการดูแลเรื่องนี้ ปัญหาเงินเฟ้อก็จะกลับมากดดันภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอีกด้วย!!