หมอวรงค์ฉีกหน้าวิษณุ งัดกม.ฟันธง! บิ๊กตู่ยื่นศาลตีความรธน.ได้ เตือนทำนายกเดือดร้อน

1713

จากที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดถึงการยื่นทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในมือนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน และนายกฯต้องนำทูลเกล้าฯภายในกี่วันนั้น

ทั้งนี้นายวิษณุ กล่าว ว่า กรอบเวลาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 คือเมื่อสภาฯส่งมาให้แล้ว ทางนายกฯต้องเก็บไว้ 5 วัน ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ และเมื่อครบ 5 วันก็บวกไปอีก 20 วัน โดยจะทูลเกล้าฯภายในกรอบเวลา 20 วันนี้เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งรัฐบาลเตรียมนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯอยู่แล้ว

“ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่ต้องรอ 20 วันสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย ส่วนหากนายกฯเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขขัดกับรัฐธรรมนูญ ส.ส.และนายกฯที่มีสิทธิยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ตามมาตรา 148 ภายในกรอบ 20 วัน แต่เป็นการยื่นตีความตามพระราชบัญญัติ ไม่ได้ใช้กับการยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขั้นตอนจะอยู่ในช่วงเวลา 90 วันเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว”

เมื่อถามว่าหากภายใน 90 วันเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับรัฐบาลมีการเลือกตั้งใหม่จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วในมาตรา 147 ระบุว่าหากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบถือว่าไม่ตกไป  เว้นแต่ในระยะเวลา 90 วันไม่โปรดเกล้าฯลงมาก็ถือว่าตกไป และให้สภาฯยืนยันภายใน 30 วัน และไม่ว่ารัฐบาลจะยุบสภาฯลาออก หรืออะไรจะเกิดขึ้น และถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ก็ให้ใช้ฉบับใหม่ แต่ถ้ายังไม่มีการโปรดเกล้าฯ และประกาศใช้ก็ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือ บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ  ซึ่งตนถึงบอกว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในช่วงนี้มันจะยุ่ง

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่า ระหว่างที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ แม้คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) และส.ส.เตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งเขตส.ส. และการจัดรายชื่อส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หากโปรดเกล้าฯรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมาทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมดตามกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“จัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว 1 วัน หากมีการโปรดเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการประกาศใช้การเลือกตั้งก็ถือว่ามีผลทันที ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป”

เมื่อถามว่าแสดงว่านายกฯ ไม่มีอำนาจในการยื่นตีความรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าตนไม่ขอตอบ ขอตอบแค่ว่าใช้กับพระราชบัญญัติเท่านั้น ส่วนกรณีที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ไปยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะการยื่นกับผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เกี่ยวกับกำหนดเวลา แต่ก็เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะรับหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญมีการเขียนไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งพระราชบัญญัติภายใน 90 วัน ในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ก็มีจำนวน 3 ฉบับ ขณะที่หลายประเทศก็มีการยับยั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา

ล่าสุดวันนี้ 6 ตุลาคม 2564 หมอวรงค์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นเพราะมีการนำข้อกฎหมายแห่งรัฐธรรมนูญมาโต้แย้ง นายวิษณุว่า

“#ท่านวิษณุต้องรู้จักคำว่าโดยอนุโลม ท่านอาจารย์วิษณุออกมาพูดกับสื่อ กรณีการยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อศาลรัฐธรรมนูญของท่านนายกว่า

“ตามมาตรา 148 ถ้าอ่านดูจะเห็นว่าผู้ที่จะยื่นได้คือ ส.ส.กับนายกฯ แต่เป็นการใช้กับ พ.ร.บ.ไม่ได้ใช้กับรัฐธรรมนูญ”

ผมคิดว่าท่านวิษณุ คงลืมอ่านมาตรา 256 (7) ของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนตอนท้ายว่า  “ให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

คำว่า อนุโลม ตามพจนานุกรม หมายถึง (กฎหมาย) นำมาใช้โดยอาศัยหลักการอย่างเดียวกัน แต่ให้แก้ไขในรายละเอียดได้ตามควรแก่กรณี ก็เท่ากับว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถ นำมาตรา 81 มาบังคับใช้ และมาประกอบกับ มาตรา 145 และมาตรา 148 ได้

แสดงว่ามาตรา 148 สามารถนำมาใช้ กับรัฐธรรมนูญได้ (โดยอนุโลม) ไม่ใช่ใช้เฉพาะร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น ถ้าไม่สมารถนำมาใช้ได้ รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (7) คงไม่เขียนโยงมาตรา 81 ให้รกรัฐธรรมนูญหรอกครับ

ผมจึงอยากให้ท่านรองนายก ดูรัฐธรรมนูญให้ละเอียดหน่อยครับ ถ้าเกิดปัญหาใดๆขึ้นมากับร่างรัฐธรรมนูญลักไก่ เกรงว่าท่านนายกจะเสียหายครับ”