กระหึ่มไปทั้งโลก เมื่ออดีตคนของเฟซบุ๊กเดินหน้าเปิดโปงองค์กรอดีตนายจ้าง แฉความจริงเบื้องหลังว่า เฟซบุ๊กหากินกับการปล่อยให้มีคำพูดของความเกลียดชังหรือ เฮทสปีช (hate speech) บนแพลตฟอร์มของตัวเอง สนแต่ตัวเลขกำไร ไม่สนผลกระทบต่อส่วนรวม และยังเผยด้วยว่าเธอคือคนเดียวกับที่ปล่อยข้อมูลภายในเพื่อสนับสนุนการสืบสวนเฟซบุ๊ก ของสำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) และสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร เฟซบุ๊กจะยังลอยนวลใหญ่คับโลก หรือจะมีการควบคุมหาความเหมาะสมต่อไป
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน การเปิดเผยโฉมหน้าบุคคลผู้ที่ปล่อยข้อมูลเอกสารหลายหมื่นหน้า จากแผนกวิจัยภายในเฟซบุ๊กในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ผ่านรายการซิกตี้มินิท (60 Minutes) พร้อมโจมตีเฟซบุ๊ก ว่าเห็นแก่กำไรมากกว่าประโยชน์ของสังคม
นางสาว ฟรานเซส เฮาเก็น(Frances Haugen) อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก อายุ 37 ปี เคยทำงานด้านปัญหาคุณธรรม (civic integrity) ในบริษัทเฟซบุ๊ก ระบุว่า เฟซบุ๊กทราบอยู่เต็มอกว่ าแพล็ตฟอร์มกำลังถูกใช้เพื่อเผยแพร่ความเกลียดชัง ความรุนแรง และข่าวปลอม แต่กลับพยายามซุกซ่อนหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้
น.ส.เฮาเก็น ระบุว่า สิ่งที่ตนพบระหว่างทำงานที่เฟซบุ๊กหลายครั้ง คือ ความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ต่อสาธารณะกับประโยชน์ต่อเฟซบุ๊ก ซึ่งหลายครั้งหลายหน เฟซบุ๊กเลือกประโยชน์ต่อตัวเอง เช่น รายได้ที่มากขึ้น กำไรที่เพิ่มขึ้น
นายสก็อตต์ เพลลี่ (Scott Pelly)ผู้ดำเนินรายการ 60 Minutes ระบุถึงเอกสารที่น.ส.เฮาเก็น ปล่อยออกมาตอนหนึ่งว่า “เรามีหลักฐานจากแหล่งข่าวหลายแห่ง ว่าการใช้วาจาเพื่อความเกลียดชัง ถ้อยคำทางการเมืองที่สร้างความแตกแยก และข่าวบิดเบือน บนเฟซบุ๊กส่งผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก”
เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา น.ส.เฮาเก็น ยื่นร้องเรียนอย่างน้อย 8 เรื่อง ต่อคณะกรรมาธิการความปลอดภัยและตาลดหุ้น โดยระบุว่า เฟซบุ๊กกำลังปกปิดหลักฐานที่เป็นผลการศึกษาซึ่งค้นพบช่องโหว่ต่างๆ ของแพล็ตฟอร์ม จากบรรดาผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ น.ส.เฮาเก็น ยังนำข้อมูลจากเอกสารมอบให้กับ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล หนึ่งในสื่อทรงอิทธิพลของอเมริกา นำไปตีพิมพ์ จนกลายเป็นพาดหัวข่าวร้อนแรงในแวดวงไอที ว่าเฟซบุ๊กนั้นทราบดีถึงผลกระทบเชิงลบของข่าวสารบิดเบือน และอันตรายที่มีต่อผู้ใช้โดยเฉพาะต่อเด็กสาวในแอพพลิเคชั่นอย่างอินสตาแกรม
น.ส.เฮาเก็น เริ่มทำงานกับเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2562 หลังเคยทำงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่างกูเกิ้ล และพินเทอเรสต์ มีกำหนดจะให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัยข้อมูล ชุดย่อยของวุฒิสภา ในวันที่ 5 ต.ค.นี้
เฮาเกนระบุว่า เฟซบุ๊กโกหกที่เคยให้คำมั่นต่อสาธารณชนว่าจะจัดการกับปัญหาคำพูดเกลียดชังและการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ มิหนำซ้ำยังมีการใช้อัลกอริทึมที่ส่งเสริมเนื้อหาที่สร้างความกลัวและความเกลียดชังในการหาประโยชน์ให้กับบริษัท
เฮาเกนย้ำว่า“เฟซบุ๊กทำเงินได้มากขึ้น เมื่อคุณบริโภคเนื้อหาเพิ่มขึ้น คนทั่วไปมักจะเพลิดเพลินในการเสพเนื้อหาที่เร้าอารมณ์ และยิ่งเป็นเนื้อหาที่ให้รู้สึกโกรธแค้นมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งมีปฏิสัมพันธ์และบริโภคกับเนื้อหาเหล่านั้นมากขึ้นเท่านั้น”
“ดิชั้นเคยเห็นข้อมูลจากแอพอื่นค่ะ แต่ความเลวร้ายไม่มีแอพไหนที่ดิชั้นเคยพบอยู่ในระดับเดียวกันกับเฟซบุ๊กเลย ช่วงปีนี้แหละค่ะ ดิชั้นรู้สึกว่าต้องขยับทำอะไรสักอย่าง เปิดเผยข้อมูลออกมาให้มากพอที่ทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้ ว่าเรื่องนี้เป็นความจริง”
ด้านปฏิกิริยาจากเฟซบุ๊กในช่วงที่ผ่านมานั้น ยังคงยืนกรานปฏิเสธว่า เฟซบุ๊กนั้นสร้างประโยชน์มากกว่าผลเสีย และโจมตีข้อมูลที่รั่วไหลออกมาว่าชี้นำและบิดเบือน
แถลงการณ์ของนางเลน่า พิเอ็ดช์ โฆษก โฆษกหญิงเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทีมงานของเฟซบุ๊ก ทำงานทุกวันเพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อทำให้แพล็ตฟอร์มนั้นปลอดภัยและมีบรรยากาศในเชิงบวก
นางพิเอ็ดช์ กล่าวตอบโต้ว่า เฟซบุ๊กปรับปรุงให้ระบบมีความรัดกุมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา การกล่าวหาเฟซบุ๊กว่าเราส่งเสริมคอนเทนต์ในทางลบ และนิ่งเฉยนั้นไม่จริงโดยสิ้นเชิง
นอกจากนี้ นายนิก เคล็กก์ รองประธานเฟซบุ๊กด้านกิจการระดับโลก ระบุก่อนรายการ 60 Minutes จะออกอากาศด้วยว่า โซเชียลมีเดียที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง เหมือนกันกับวิถีชีวิตของมนุษย์
เคล็กก์ กล่าวว่า“เราทำงานงานวิจัยจำนวนมหาศาล แบ่งปันให้กับนักวิจัยภายนอกมากเท่าที่เราจะทำได้ แต่ต้องทราบไว้อย่าง คือ ความแตกต่างเรื่องเอกสารที่เราจะเปิดให้โลกรับทราบ กับเอกสารภายในที่เราใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหารือกันครับ”
อย่างไรก็ตาม น.ส.เฮาเก็นเชื่อว่านายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ซีอีโอ และผู้คิดค้นแพล็ตฟอร์ม ไม่ได้มีเจตนาจะสร้างโซเชียลมีเดียแห่งความเกลียดชังขึ้นมาแต่แรก แต่เขาก็ปล่อยปละละเลยให้เกิดโอกาสที่นำไปสู่ตัวเลือกซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียง เป็นคอนเทนต์ความเกลียดชัง และการแตกแยกแบ่งขั้ว ที่สามารถแพร่กระจายและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น