“ออคัส”(AUKUS) เป็นกลุ่มความร่วมมือจากภายนอกภูมิภาค ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ พุ่งเป้าต้านจีนโดยตรง และอาเซียนซึ่งเป็น “จุดยุทธศาสตร์” ของอินโด-แปซฟิก หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานของความขัดแย้ง2 มหาอำนาจสหรัฐและจีน
พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคงที่ใช้ชื่อว่า “ออคัส” เป็นการรวมตัวระหว่างสหรัฐ กับสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีเป้าหมายชัดเจนคือ “การขอมีส่วนร่วมผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก” จากการที่ออสเตรเลียจะได้รับการถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ จากสหรัฐและสหราชอาณาจักร ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่ยังคงเป็นข้อพิพาทระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศส ตลอดจนอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป เนื่องจากเกี่ยวโยงกับเม็ดเงินมหาศาล และการสร้างงานภายในภูมิภาค
แม้ไม่มีการเอ่ยถึงจีนอย่างตรงไปตรงมา แต่ออคัสกำลังเป็นเครื่องมือชิ้นล่าสุดของสหรัฐ ในการกดดันจีนและช่วงชิงส่วนแบ่งด้านผลประโยชน์จากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) ครั้งที่ 76 ที่นครนิวยอร์ก ว่าสหรัฐ “ร่วมมือกับทุกฝ่าย” และ “ไม่แสวงหาสงครามเย็นครั้งใหม่” ตรงข้ามความจริงที่ว่า การถือกำเนิดของออคัส คือจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามเย็นครั้งใหม่อย่างอาจปฏิเสธได้
รัฐบาลแคนเบอร์รา ดึงให้อเมริกาพ่วงด้วยสหราชอาณาจักร เข้ามามีบทบาทระยะยาวในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ต้องแลกด้วยการที่ออสเตรเลียจะกลายเป็น “ประเทศบริวารทัพหน้า” โดยปริยาย ในการรับมือและเผชิญกับแรงกระแทกจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน ส่วนประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำนั้น การที่สหรัฐ “จะให้เปล่า” นั้น “เป็นไปไม่ได้เพราะไม่เคยมีของฟรี รัฐบาลวอชิงตันต้องการให้ออสเตรเลีย “เป็นตัวแทน” ออกหน้าในเรื่องที่เกี่ยวกับจีนให้ได้มากที่สุด และนับจากนี้ ในทุกความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ออสเตรเลียจะต้องมีส่วนร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในเวลาเดียวกัน ออคัสคือบททดสอบสำคัญชิ้นล่าสุด ต่อความเป็นเอกภาพ ความเป็นกลาง และความหนักแน่น ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ที่นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น สมาชิกอาเซียนที่ปัจจุบันมี 10 ประเทศ ยังคงสามารถวางตัว “เป็นศูนย์กลาง” ให้กับโครงสร้างกลไกการทูตของเอเชีย การประชุมอาเซียนตลอดทั้งปีซึ่งมีตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับผู้นำรัฐบาล ไม่ใช่การหารือกันเฉพาะระหว่าง 10 ประเทศ แต่ยังมีการประชุมร่วมกับบรรดาประเทศคู่เจรจา ที่มีทั้งสหรัฐและจีน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้ความเห็นเรื่องออคัสไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วย โดยอินโดนีเซียและมาเลเซียมองว่า การรวมตัวดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของการเพิ่มความแข็งกร้าวจากตะวันตกต่อจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เสถียรภาพด้านความมั่นคงในภูมิภาคยิ่งสั่นคลอน ส่วนฟิลิปปินส์มีทั้งยินดีและคัดค้าน
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลว่า ความร่วมมือ AUKUS อาจนำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธในภูมิภาค พร้อมทั้งย้ำถึงความมุ่งมั่นของมาเลเซียที่จะรักษาอาเซียนให้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง รวมถึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคารพและปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (United Nations Convention on the Law Of the Sea-UNCLOS) และสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในภูมิภาคเอเชีย ตอ.ต. (Southeast Asian Nuclear-Weapon-Free Zone-SEANWFZ) ตลอดจนการเสริมสร้าง ความร่วมมือที่มีอยู่เพื่อประกันสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค ตามกรอบเอกสารมุมมองของอาเซียน ต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific-AOIP)
สำหรับอินโดนิเซีย หวั่นการจัดตั้งกลุ่ม AUKUSทำให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาค โดยกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียได้ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลจาการ์ตามีความวิตกกังวลอย่างยิ่ง ต่อการแข่งขันด้านอาวุธ และการแสดงพลังอำนาจ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย รวมตัวกันเป็นพันธมิตรในนาม ออคัส ( AUKUS ) เน้นดำเนินนโยบายครอบคลุมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการที่ออสเตรเลียจะได้รับการถ่ายเทคโนโลยีเรือดำน้ำ จากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
รัฐบาลจาการ์ตาเรียกร้องรัฐบาลแคนเบอร์รา ยึดมั่นกับพันธสัญญา ในการร่วมรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ด้านฟิลิปปินส์กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยท่าทีต้อนรับมองว่า กลุ่มออคัส คือการขับเคลื่อนที่ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ไม่ใช่เป็นการบ่อนทำลาย นอกจากนี้ ตราบใดที่ออคัสยังไม่นำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเคลื่อนไหวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังไม่ถือเป็นการละเมิดปฏิญญาร่วมของอาเซียน ในการเป็นพื้นที่ปลอดนิวเคลียร์ ขณะที่ดูเตอร์เตมีท่าทีไม่เห็นด้วย กังวลว่าในที่สุดจะฉุดฟิลิปปินส์เข้าสู่อันตรายของการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง