Truthforyou

สหรัฐกระอัก!?เงินเฟ้อกระฉูดซ้ำ แม้สภาฯอนุมัติงบฯชั่วคราว 2 เดือน แค่เลี่ยงชัตดาวน์หวุดหวิด

สภาคองเกรสสหรัฐฯเห็นชอบ ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในวันพฤหัสบดีที่ 30 ก.ย.2564 เฉียดฉิวเส้นตายเงินหมดกลางเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ หลีกเลี่ยงชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาล ในขณะที่บรรดาแกนนำพรรคเดโมแครตพยายามก้าวข้ามศึกต่อสู้ดุเดือดระหว่างสองพรรค แต่ยังคงทิ้งปัญหาใหญ่เรื่อง การเพิ่มเพดานหนี้เพื่อพิมพ์เงินให้ทันชำระหนี้ ไม่เสียเครดิต และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไม่หยุดจนประธานเฟดออกมาเตือน คงต้องจับตาว่าในที่สุด สหรัฐจะแก้ปัญหาสาหัสนี้อย่างไร เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกและประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

เมื่อวานนี้ไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงเส้นตายตอนเที่ยงคืน สภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯลงมติเปิดทางให้หน่วยงานรัฐบาลปฏิบัติงานต่อไปอีก 2 เดือนจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม ผ่านข้อตกลงอนุมัติงบฯโดยผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาอย่างสบายๆ โดยที่พรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันให้การสนับสนุนพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นพรรครัฐบาลทั้ง 2 สภา

ร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้ยังรวมถึงการให้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน และการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานด้วย

ชัค ชูเมอร์ แกนนำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา บอกกับสมาชิกวุฒสภาก่อนหน้าการลงมติว่า “นี่เป็นผลลัพธ์ที่ดี ผมจะมีความสุขมากหากเราสามารถทำมันสำเร็จ  เพราะมีเรื่องมากมายที่ต้องดูแลที่นี่ ในวอชิงตัน ประชาชนชาวอเมริกันคงไม่ต้องการเห็นหน่วยงานรัฐบาลเป็นอัมพาต”

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึง การเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันยังจำเป็นจะต้องมีการหารือกันต่อหลังจากนี้และไม่ง่ายที่จะตกลงกันได้

ก่อนหน้านี้เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวเตือนอย่างเคร่งเครียดว่า สภาคองเกรสมีเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ในการพิจารณาเรื่องการขยายเพดานหนี้ และหลีกเลี่ยงหายนะที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้ทำให้ ปธน.โจ ไบเดนค่อยหายใจโล่งขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง เพราะปัญหาสะสมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆคือ ปัญหาเงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นไม่หยุด

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ วันที่ 30ก.ย.2564  เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และเน้นย้ำความสำคัญของการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ก่อนหน้านี้ นายพาวเวลและนางเยลเลนได้กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวันอังคาร โดยระบุเตือนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และสหรัฐต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

ด้านนางเยลเลนกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าเงินเฟ้อปรับตัวขึ้น  อย่างไรก็ตามหากสภาคองเกรสล้มเหลวในการเพิ่มเพดานหนี้ ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

หมายถึงว่า การอนุมัติงบฯชั่วคราว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงชัตดาวน์ แต่ไม่ได้รวมถึงการเพิ่มเพดานหนี้แต่อย่างใด ปัญหาล่อแหลมยังคงอยู่

ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวดาวโจนส์ระบุว่า ดัชนี ราคาผู้บริโภค หรือที่เรียกว่าCPI:Consumer Price Index ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี 

ที่ผ่านมานั้น ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อนแรงกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ โดยเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6%

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 11 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย. 2553 หลังจากดีดตัวขึ้น 7.8% ในเดือนก.ค. และล่าสุดสำนักงานคอนเฟอเรนซ์บอร์ด ที่เผยว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ อ่อนแอเกินคาดในเดือนกันยายน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

สรุปว่าปัญหาร้อนแรงสาหัสทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลปธน.ไบเดนกำลังเผชิญอยู่คือ การเพิ่มเพดานหนี้ หรือพูดง่ายๆคือการอนุญาตให้กู้เงินเพิ่มอย่างถูกกฎหมาย ยังไม่มีข้อสรุป และเส้นตายคือวันที่ 18 ต.ค.ที่จะถึงนี้ตามที่รม.คลัง, เยลเล็นเตือน ถ้าไม่อนุมัติสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์คิดดูว่า ผลกระทบจะคาดไม่ถึง ไม่งั้นรมว.คลังไม่ใช้คำว่า “หายนะ”หรอก   อีกประการหนึ่งคือ เงินเฟ้อสูงคุมไม่ได้แล้ว ทั้งๆที่มีเสียงซุบซิบว่า มีการปรับตัวเลข CPI เพื่อให้ตัวเลขเงินเฟ้อไม่ดูน่าเกลียด ก็ยังปิดไม่มิด แบบนี้ใครยังคิดว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งตามแรงโปรโมตของสื่อตะวันตก อาจต้องคิดใหม่กระมัง???

Exit mobile version