Truthforyou

“วัฒนา” กางกม. ยุสส.-สว.ยื่นศาลรธน.ตีความ “พลเอกประยุทธ์” เป็นนายกครบ 8 ปี สิ้นสุด ส.ค.65!?

“วัฒนา” กางกม. ยุสส.-สว.ยื่นศาลรธน.ตีความ “พลเอกประยุทธ์” เป็นนายกครบ 8 ปี สิ้นสุด ส.ค.65!?

จากกรณีเมื่อวานนี้ (27 กันยายน 2564) รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ได้กล่าวถึงกรณีของนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง คือ ไม่นับรวมรักษาการ

ทั้งนี้ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่เคยรักษาการ ตามมาตรา 264 ดังนั้น แปลว่าเป็นคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คือ ต้องนับอายุตั้งแต่ปี 2557 ที่เข้าควบคุมการบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นประการแรก

ประการที่สอง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ก็เพื่อไม่ให้ผูกขาดในอำนาจ และประการที่สาม ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 171 วรรคท้าย ก็กำหนดไว้เช่นกันว่า นายกฯอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี ซึ่งถือเป็นทราบกันดีอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าให้นับอายุความเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. 2565

ต่อมาทางด้าน นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า

กรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” นั้น เป็นประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียงกันว่าจะเริ่มนับระยะเวลาแปดปีตั้งแต่เมื่อไร โดยแบ่งความเห็นออกเป็นสองฝ่าย กล่าวคือ
ฝ่ายแรกเห็นว่าจะต้องเริ่มนับจากวันที่ 9 มิถุนายน 2562 อันเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งได้จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2570
ฝ่ายที่สองเห็นว่าจะต้องเริ่มนับจากวันที่ 24 สิงหาคม 2557 อันเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ด้วยเหตุผลคือ
(1) เป็นไปตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ดังนั้น อายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์จึงต้องถือว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นต้นมา
(2) รัฐธรรมนูญมิได้เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจึงมีผลย้อนหลังได้ ดังเช่นกรณีตามมาตรา 98 (10) ที่ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแม้จะเป็นความผิดที่เคยกระทำก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตาม หรือกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจ เป็นต้น
ทางออกของเรื่องนี้จึงต้องอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสามที่ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย โดย ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 158 วรรคสี่ เมื่อยื่นคำร้องแล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ส่วน ส.ส. หรือ ส.ว. จะยื่นคำร้องได้ก็ต้องเริ่มจากวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มต้นที่มีข้อถกเถียงว่าการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีครบแปดปีแล้วหรือไม่
Exit mobile version