จากกรณีของการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊ส ที่ยังคงออกมารวมตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งมาเป็นกลุ่ม มีรถจยย.เป็นยานพาหนะ ขับวนส่งเสียงดัง
พร้อมทั้งมีการตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วย ทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาบนถนนวิภาวดีทั้งขาเข้าและขาออกได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
ล่าสุดทางด้านของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความถึงกลุ่มทะลุแก๊ส โดยบอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีองค์กรจัดตั้งขึ้นมา โดยระบุข้อความว่า
[ปรากฏการณ์ “ทะลุแก๊ส” ที่ดินแดง คืออะไร?]
ภายหลัง “แกนนำ” ของ “ราษฎร” หลายคน ถูกรัฐใช้ “นิติสงคราม” เข้าปราบปรามอย่างหนัก จนต้องถูกจำคุก โดยไม่มีสัญญาณว่าจะได้รับอิสรภาพชั่วคราวเมื่อไร จนดูเหมือนว่าการชุมนุมของ “ราษฎร” ในช่วงที่เหลือของปี น่าจะมาสู่ช่วงขาลง ไม่สามารถกลับมาผลักดันประเด็นทั้งสามข้อได้อย่างร้อนแรงเหมือนปลายปีที่แล้ว พลันก็เกิดการชุมนุมที่ดินแดง ช่วงหัวค่ำ เกือบทุกวัน ปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

ไม่มีใครรู้จักว่าพวกเขาเหล่านี้คือใคร?
ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าข้อเสนอของพวกเขาคืออะไร?
ไม่มีใครเคยได้ยินการปราศรัยของพวกเขา?
รู้กันแต่เพียงว่า มีการตั้งชื่อเล่นๆ ว่า “ทะลุแก๊ซ”
ผมเฝ้าสังเกตการต่อสู้ของประชาชนกลุ่มนี้อย่างสนใจว่า นี่จะกลายเป็นการต่อสู้ในลักษณะใหม่แบบที่ไม่เคยเกิดในประเทศไทยมาก่อนหรือไม่?

ผมติดตามสถานการณ์ที่ดินแดงทุกวัน ก็ยังไม่อาจวิเคราะห์ฟันธงลงไปได้ทั้งหมด แต่ขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นไว้ ดังนี้
นี่คือปรากฏการณ์ในลักษณะ “ผุดขึ้นมาเอง” – spontaneous ปราศจากองค์กรจัดตั้งหรือปลุกระดม
นี่คือปรากฏการณ์ในลักษณะ “ตอบโต้กับสิ่งที่รัฐกระทำมาตลอดขวบปีที่ผ่านมา” – action vs reaction
นี่คือปรากฏการณ์ในลักษณะ มีแนวโน้มไปสู่การลุกขึ้นสู้แบบปฏิวัติ – soulèvement révolutionnaire
เรามักมองเหตุการณ์ที่ดินแดงว่า เป็นการก่อจลาจลของวัยรุ่นเด็กแว้นคึกคะนอง หรือ riot แต่นั่นคือการมองจากภาพการกระทำภายนอก มองจาก action การปาพลุ ดอกไม้ไฟ การขว้างปาสิ่งของ การขี่มอเตอร์ไซค์เข้าปฏิบัติการ
แต่ถ้าเรามองลงไปให้ลึกกว่านั้น riot หรือ การก่อจลาจล แบบนี้ อาจมีลักษณะเป็น “การลุกขึ้นสู้” ด้วย
คนมือเปล่าแบบไหนกันที่จะกล้าเอาชีวิตตนเองเข้าไปเสี่ยงคุก เสี่ยงตาราง บาดเจ็บ ล้มตาย จากการปะทะกับเจ้าหน้าที่

เยาวรุ่นแบบไหนกันที่จะกล้าเอาอนาคตของตนเองเข้าไปเสี่ยง ยอมให้คนจำนวนมากก่นด่า ยอมถูกฝ่ายเดียวกันที่ต่อสู้กับรัฐบาลตั้งคำถาม บางที อาจไม่ใช่การจลาจลทั่วๆ ไป อาจไม่ใช่เยาวรุ่นใจร้อน อยากใช้กำลังท้าตีท้าต่อยกับเจ้าหน้าที่ แต่คือ กลุ่มคนที่เกิดจิตสำนึกของการต่อสู้กับระบอบอันอยุติธรรม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยใด และไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร แต่จิตสำนึกนี้ได้กระตุ้นให้พวกเขาพร้อมเข้าเสี่ยงสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจกฎหมาย เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่บางครั้งอาจเสี่ยงตาย บาดเจ็บ ยินยอมเข้าเสี่ยง เพราะไม่ต้องการปล่อยให้ความอยุติธรรมนี้ดำรงต่อไป การแสดงออกของ “ทะลุแก๊ซ” จะเป็นการก่อจลาจลดาดๆ หรือกลายเป็นการลุกขึ้นสู้แบบปฏิวัติ ประเด็นชี้ขาดอยู่ตรงนี้
