“จุรินทร์” ชูยุทธศาสตร์ รัฐหนุน-เอกชนนำ”ฝ่าความท้าทายจากความขัดแย้งสหรัฐ-จีนทั้งการเมืองการค้าโลก ยังมั่นใจส่งออกไทยยังเป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ย้ำรัฐอย่าทำตัวเป็นพระเอกเพราะไม่เก่งเท่าเอกชนต้องไม่สร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค พร้อมจับตาจีนเข้าร่วมCPTPP อาจจะกระทบการค้าไทย-จีน เพราะจีนและสหรัฐฯเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเรา ทางรอดต้องยึดอาเซียนเป็นสำคัญ
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนส.ค.2564 มีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.93% โดยถือว่าชะลอตัวลงจากเดือนก.ค.2564 เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ และบางโรงงานผลิตบางแห่งปิด หรือปิดบางส่วน และระบบโลจิสติกส์มีปัญหาติดขัดจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดี ส่วนยอดรวม 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 176,961.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.25% ยังเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% มาก
ทั้งนี้ การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.92% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบสูงถึง 65.73% จะเป็นผลดีต่อการส่งออกในอนาคต และยอดรวม 8 เดือน มีมูลค่า 175,554.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.97% เกินดุลการค้า 1,406.96 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการส่งออกที่ขยายตัว มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 23.6% และหากดูลึกในรายสินค้า พบว่า ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่ม 98.8% บวกต่อเนื่อง 11 เดือน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 84.8% บวก 5 เดือนต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 51.0% บวก 6 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 48.4% บวก 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าวเพิ่ม 25.4% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และอาหารสัตว์เพิ่ม 17.3 บวก 24 เดือนต่อเนื่อง
“หากดูเฉพาะสินค้าเกษตร จะบวกสูงถึง 45.5% โดยยางบวก 98.8% เกือบทำได้ 100% ผลไม้ 84.8% ดูลึกลงไป เช่น เงาะ ที่ไม่เคยหยิบมาไฮไลต์ บวก 431% ทุเรียน 315.48% ลำไย ที่เคยกังวลช่วงต้นฤดู บวก 102.67% มังคุด บวก 44.16% ข้าวที่ตัวเลข 7 เดือนไม่ดี เพราะบาทแข็ง แข่งขันเวียดนามและอินเดียไม่ได้ แต่พอบาทอ่อน เศรษฐกิจโลกดีขึ้น มีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ส่งออกส.ค.เริ่มเป็นบวก 25.44% ดูสัญญาณถึงสิ้นปี มีแนวโน้มดี”นายจุรินทร์กล่าว
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.3% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 17.8% รถจักรยานยนต์ เพิ่ม 44.3% คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เพิ่ม 10.5% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 35.7% เป็นต้น
ขณะที่ตลาดส่งออก พบว่า ขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 16.2% จีน เพิ่ม 32.3% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10% อาเซียน เพิ่ม 15.2% สหภาพยุโรป เพิ่ม 16.1% อินเดียเพิ่ม 44.2% ยกเว้น 3 ตลาด ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และ CLMV ที่ขยายตัวติดลบ
นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในเดือนส.ค.2564 ที่ทำให้เป็นบวกได้ มาจากการแก้ไขปัญหาเชิงรุกและต่อเนื่องของ กรอ.พาณิชย์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อังค์ถัดประเมินว่าจะโตเร็วสุดในรอบ 50 ปี โตมากในสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก หรือ PMI เกินระดับ 50 ต่อเนื่อง 14 เดือน แปลว่าพร้อมซื้อ และอย่างน้อยซื้อจากไทยด้วย และค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงหลายเดือน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยสูงขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น
ส่วนการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับเอกชนผลักดันการส่งออกต่อไป เพื่อทำรายได้เข้าประเทศต่อไป โดยมั่นใจว่า การส่งออกทั้งปี จะทำได้เกินเป้าหมาย 4% อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นตัวเลข 2 หลักตามที่เอกชนประเมินไว้หรือไม่ ก็จะทำให้ดีที่สุด และเชื่อว่าทำได้
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทางแล้ว และที่ผ่านมาไทยไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวในการนำรายได้เข้าประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุดมี 2 ขาคือการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งก่อนโควิดท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศ 11.33% ของจีดีพี และการส่งออกประมาณ 45% รวมเป็น 66%
สิ่งที่ต้องติดตาม คือ การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะทวีความรุนแรงเข้มข้นและมีรายการเพิ่มขึ้น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาจากประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น การที่สหรัฐกับอังกฤษและออสเตรเลียจับมือกันตั้งไตรภาคีAUKUS เพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก มีนัยยะสำคัญคือสหรัฐฯจะเข้าไปช่วยออสเตรเลียผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งออสเตรเลียสั่งซื้อจากฝรั่งเศสหลายหมื่นล้านดอลลาร์ กระทบฝรั่งเศส แต่ทันทีที่ประกาศไตรภาคีเรื่องนี้จีนประกาศจะเข้าร่วม CPTPP ซึ่งต้องติดตามโลกไม่ได้แบ่งค่ายเฉพาะทางการเมืองแล้วแต่ยังเอาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมามัดติดกับการเมืองและแบ่งค่ายกัน เป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยและภาคเอกชนต้องจับมือกัน พร้อมติดตามวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด
เพื่อกำหนดทิศทางและท่าทีของไทยว่าจะเดินไปอย่างไรให้เกิดความสมดุล ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอครม.ว่าอย่างน้อยที่สุดไทยต้องจับมือกับอาเซียนให้ใกล้ชิดเพราะลำพังไทยตัวเล็กเกินไป อำนาจต่อรองก็จะเพิ่มขึ้น แต่อาเซียนด้วยกันก็ต้องแข่งกัน ฉะนั้นเราจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยอย่างไรคือการบ้านข้อใหญ่ในภาวะการเมืองมัดติดกับเศรษฐกิจการค้าโลก
นอกจากนี้เอกชนกับรัฐบาลต้องศึกษาข้อตกลงกติกาการค้าโลกที่มีให้ใกล้ชิดลงลึก FTA Mini-FTA RCEP อาเซียนพลัสและอื่นๆ เพื่อเตรียมการในการปรับตัวและแสวงหาแต้มต่อทางการค้า
“ส่วนเรื่องที่จีนสนใจจะเข้าร่วม CPTPP เชื่อว่าจะกระทบไทย เพราะถ้าจีนเป็นสมาชิก CPTPP ต้องปรับมาตรฐานทางด้านการผลิตการส่งออกหลายรายการเพื่อให้สอดคล้องกับกติกา จะกระทบไทยเพราะจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทย แต่เมื่อจีนปรับมาตรฐานการส่งออก สินค้าไปจีนต้องภายใต้มาตรฐานใหม่ เป็นสิ่งที่ กรอ.พาณิชย์ทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนต้องติดตาม เพราะการส่งออกจึงยังเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป”