ถอดบทเรียนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์!?!ปั้มรายได้ 1.7 พันล้านแถมโควิด หอการค้าเตือนไม่พร้อมอย่าเร่งเปิดกทม.

1316

โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยว ตั้งแต่วันที่  1 ก.ค. 2564 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศอย่างมาก โดย 2 เดือนที่ผ่านมานั้นมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเกือบ 3 หมื่นคน ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 17,000 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าด้านหนึ่งเป็นความสำเร็จในการสร้างรายได้ ท่ามกลางการระบาดใหญ่โควิด-19 ครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและนำมาสู่การพัฒนาสร้างจุดแข็งตั้งแต่แผนรองรับความเสี่ยง โดยการวางกฎระเบียบต่างๆ อย่างเข้มข้นและเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย แม้ว่าในระหว่างทางจะเกิดกรณีอาชญากรรม และพบว่ามีการแพร่เชื้อโควิดในพื้นที่ แต่ข้อเท็จจริงคือจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นคนในประเทศเป็นหลัก ส่วนนักท่องเที่ยวที่พาโควิดมาด้วยมีไม่มากนัก

ความกล้าในการจัดสมดุลสาธารณสุขกับเศรษฐกิจการทำมาหากินของไทยเราส่งผลสะเทือนไปถึงเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซียยอมรับศึกษาจากโมเดลภูเก็ตเปิดเกาะลังกาวีแล้ว ส่วนเวียดนามประกาศจะเปิดเกาะในอ่าวไทยรับนักท่องเที่ยวเร็วๆนี้ และล่าสุดกัมพูชาเตรียมเปิดประเทศชูการท่องเที่ยวเร็วๆนี้เช่นกัน

การประเมินผล “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นอกจากดูตัวเลขรายได้ ประเมินความเสี่ยงติดเชื้อโควิดแล้ว ต้องประเมินผลการทำการตลาดของรัฐบาลด้วยว่าแผนการตลาดเจ๋งหรือยังต้องปรับปรุง

การตลาดของเราคุ้นเคยวิธีการแบบเอ้าท์บาวด์ ที่กระจายสื่อเป็นหลักคราวนี้เราทำอินบาวด์ โดยพยายามชูเนื้อหาว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ปลอดภัย โดยยึดเครดิตเดิมที่เราเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือการระบาดโควิดได้ดีและมีระบบสาธารณสุขชั้นเลิศพร้อมดูแลความปลอดภัยทางสุขภาพของนักท่องเที่ยว  เรื่องนี้เรายังทำได้ไม่ดีนัก เพราะภาพที่ออกไป ทั้งปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการติดเชื้อที่สื่อหลักของไทยระดมป่าวร้องปัญหา มากกว่าสื่อสารบอกกล่าวการแก้ปัญหาส่งผลต่อความไม่มั่นใจใน “ภูเก็ต” มากเกินจริง อีกทั้งมีการปั้นข่าวเท็จระบาด เหมือนขย่มให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ล้มเหลวเกินจริงเสมอ

ทำความเข้าใจกับการตลาดที่ไทยใช้กันบ้าง ด้านOutbound Marketing คือการตลาดแบบผลักออกไป โดยการใช้สื่อกระจายออกไปยังผู้บริโภค ใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ โดยหวังว่าจะไปถึงกลุ่มคนที่จะเป็นลูกค้าจริงๆโดยสื่อที่ใช้นั้น สำหรับInbound Marketing คือการใช้การตลาดเพื่อดึงคนเข้ามาด้วยเนื้อหา หรือ Content ชูสิ่งที่น่าสนใจเป็นประโยชน์มีคุณค่า เพื่อดึงดูดคนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นลูกค้า (Prospect) ให้เข้ามาซื้อมาใช้บริการ มาดูContent 

สรุปผลงานในรอบ2 เดือนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ซึ่งมีทั้งความสำเร็จและสิ่งที่ต้องปรับปรุง

ข้อมูลจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ข้อมูล ณ  2 ก.ย. 2564 สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยว 2 เดือน ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  1ก.ค.-31 ส.ค.64 จำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 26,400คน จำนวนคืนพักสะสม 366,971คืน รายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม  ค่าที่พัก 565ล้านบาท  ค่าซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยว 376ล้านบาท ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 350ล้านบาท  บริการทางการแพทย์/สุขภาพ 229ล้านบาท  รวมสร้างรายได้ 1,634ล้านบาท

ทางด้านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต รายงานข้อมูล นักท่องเที่ยว ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม -3 กันยายน 2564 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาราชอาณาจักร สูงสุด5ลำดับแรก 1.อเมริกา 3,647คน 2.อังกฤษ 3,437คน 3.อิสราเอล 3,141คน 4.ฝรั่งเศส 2,174 คน 5.เยอรมนี 2,159คน  นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สะสม จำนวน 27,609คน เดินทางกลับไปนอกราชอาณาจักร จำนวน 10,355คน คงเหลือ จำนวน 17,254คนกระจายไปอยู่ทั่วประเทศ  และคงเหลือในจังหวัดภูเก็ต  จำนวน 4,762 คน

มาดูความเห็นของคนในวงการท่องเที่ยวที่สะท้อนภาพตามความคิดเห็นไว้ค่อนข้างชัดเจนบ้าง

ม.ล.สุรวุฒิ ทองแถม โฮเทลเลียร์ระดับกูรู และอดีตรองประธานอาวุโสฝ่ายขาย เครือโรงแรมใหญ่ของไทย มองว่า การเปิดตลาดอินบาวด์คงยากสำหรับปีนี้หรือปีหน้า เนื่องจากการให้ความปลอดภัยด้านสาธารณสุขยังไม่เสถียร และไทยติดอันดับ 30 ประเทศในโลกที่มีความเสี่ยง

“สภาวะเศรษฐกิจประชากรโลกยังย่ำแย่ ให้จับตาเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายการแข่งขันเรื่องราคาจะเข้มข้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ สงครามแย่งชิงนักท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นแน่นอน และยิ่งทวีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา”

ม.ล.สุรวุฒิ ย้ำว่า ตลาดอินบาวด์ต้องใช้เวลา 2 ปี หรือ 2 ฤดูกาลท่องเที่ยว ทางออกจึงหนีไม่พ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งเปรียบได้กับแม่เหล็กพลังสูงช่วยกู้สถานการณ์ได้ หน่วยงานรัฐจึงควรเร่งส่งเสริมและกระตุ้นตลาดให้เทียบเท่าที่ทุ่มใส่ตลาดต่างประเทศทั้งที่ไม่เห็นโอกาส ภาระเร่งด่วนควรทำเมื่อ ศบค.คลายล็อกปล่อยผี ให้คนไทยเริ่มปลดปล่อยและเชื่อว่าจะเที่ยวกันถล่มทลายทันทีที่เปิดโอกาส คือรัฐต้องวางแผนล่วงหน้า

ด้านภาคเอกชน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาคมการค้า 12 สมาคมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอบทเรียนจาก ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งระบุว่าการจะเปิดกทม. ควรมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มให้ถึง 70% ก่อน พร้อมกำหนดมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจน ทั้งระบบควบคุม และระบบติดตามตัว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งต้องพิจารณาความพร้อมอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย

โดยขณะนี้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ในกทม. ยังมีประมาณ 44% เท่านั้น ซึ่งหากเร่งการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% คาดว่าจะใช้เวลาถึงประมาณวันที่ 22 ต.ค. 64 และยังต้องรอให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเร่งเปิดเมืองหากยังไม่พร้อม

ทั้งนี้ แผนที่รัฐบาลประกาศว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนทยอยเข้ามาจำนวนมากในเดือนก.ย.-ต.ค.นั้น แต่ละพื้นที่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการช่วยกระจายวัคซีนไปยังประชาชน รวมไปถึงผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเดินทางจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพียงแต่ต้องรอดูว่าวัคซีนจำนวนดังกล่าวจะเข้ามาตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และความสามารถในการเร่งฉีดวัคซีน และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ดีเพียงใด

นายสนั่น กล่าวว่า”การเร่งเปิดเมืองจนเกินไป ถือว่ามีความเสี่ยงมากพอสมควร หากรอให้ภาคส่วนต่างๆ มีความพร้อมกว่านี้อีกสักระยะ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยสิ่งสำคัญที่สุดของประชาชนในขณะนี้ คือการป้องกันตัวเอง และปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด” 

พร้อมระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ ภาคเอกชนมองไปที่การบริโภค และการผ่อนคลายธุรกิจในประเทศมากกว่า และทยอยเปิดตามความเสี่ยงที่จัดการได้ นอกจากนั้น การที่จะทำให้สามารถเปิดเมืองได้นั้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของภาครัฐอย่างเดียว แต่ภาคเอกชน และประชาชน ต้องร่วมมือกันด้วย เพื่อไม่ให้การระบาดกลับมา