ญี่ปุ่นฉลองวันผู้สูงอายุ!?! พบคนแก่มากที่สุดในโลก ฉุดประเทศไร้แรงฟื้นเศรษฐกิจ

1488

ญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก ทำให้การขับเคลื่อนประเทศในทุกด้านเป็นไปอย่างล่าช้า เห็นได้จากระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาหนักในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก จนทำให้การรับมือวิกฤตล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

เนื่องในวันเคารพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวันหยุดประจำชาติของญี่ปุ่น(ทุกวันจันทร์ที่สามของเดือนกันยายนของทุกปี) เมื่อวานนี้เป็นวันจันทร์ที่ 20 กันยายน รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจพบว่า จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และสัดส่วนของประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั้ง 2 อย่าง

กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นประมาณการว่า ประชากรสูงอายุมีจำนวน 36.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 220,000 คนจากปีที่แล้ว ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ ร้อยละ 29.1 เพิ่มขึ้น 0.3 จุด

ญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรสูงอายุสูงที่สุดในโลก ทิ้งห่างอิตาลีที่อยู่ในอันดับ 2 มีสัดส่วนประชากรสูงอายุร้อยละ 23.6

การรับมือระบาดของโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นถือว่าล่าช้าเมื่อเทียบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ เนื่องจากมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีอาการหนักและเสียชีวิต ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้เหมือนคนหนุ่มสาว นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังใช้เวลาครองเตียงนานกว่าและมีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากกว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ จึงเต็มล้นอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้

จนถึงวันที่ 20 ก.ย. ในญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 17,250 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ญี่ปุ่นต้องใช้เวลานานกว่า 5 เดือนในการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ ขณะนี้ผู้มีอายุเกิน 65 ปี 88.4% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จำนวนผู้สูงอายุที่มีมากทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวได้รับวัคซีนล่าช้าไปด้วย จนเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อมากที่สุดในการระบาดระลอกล่าสุดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ผู้สูงอายุญี่ปุ่นมักมีภาพลักษณ์ว่ามีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนเป็น 100 ปี แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤตอย่างเช่นโรคระบาดหรือภัยพิบัติ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางที่รัฐต้องให้การดูแล และทุ่มเททรัพยากรมากเป็นพิเศษ

รัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมสูงที่สุด และเป็นงบที่ไม่อาจลดลงได้ มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้งบประมาณในส่วนอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การวิจัยนวัตกรรมมีไม่เพียงพอ เห็นได้จากการระบาดของโควิดที่ญี่ปุ่นไม่สามารถพัฒนาวัคซีนรวมทั้งยารักษาของตัวเองได้ ต้องพึ่งพาการนำเข้า

การสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นยังพบว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 9.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นตลอด 17 ปีที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นมีแรงงานสูงวัยจำนวนมากที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G-7และเพิ่มขึ้นตลอด 9 ปีไม่เปลี่ยนแปลง

แรงงานสูงอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 13.6% ของแรงงานทั้งหมดในญี่ปุ่น ผู้สูงอายุกว่า 1.28 ล้านคนทำงานในอุตสาหกรรมค้าส่งค้าปลีก, 1.06 ล้านคนทำการเกษตรและป่าไม้ และ 1.04 ล้านคนทำงานบริการ แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้มากกว่า 70% ได้รับการจ้างงานแบบชั่วคราว และมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

รัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่าจะสร้าง “สังคมที่ไม่มีวันเกษียณ” แต่การที่ประชาชนยังคงต้องทำงานแม้ยามชรา อาจไม่ใช่สังคมที่กระตือรือล้นอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง แต่เป็นเพราะนโยบายรัฐที่ไม่เปิดรับแรงงานต่างชาติ และทัศนคติของสังคมญี่ปุ่นที่ไม่ยอมรับ“คนนอก” มาเป็น “พลังใหม่” เพื่อพลิกฟื้นประเทศ