จากกรณีเมื่อวันที่ (19 ก.ย. 64) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ แสดงความเห็นในโอกาสครบ 15 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
โดยระบุว่า 15 ปีที่แล้วของวันนี้คือวันที่โอกาสประเทศไทยและคนไทยในสังคมโลกยุคใหม่สูญเสียไปอย่างมากและต่อเนื่อง เพราะการนำประเทศถอยหลังด้วยระบบเผด็จการที่โลกทัศน์คับแคบ ห่วงแต่สถานภาพตัวเอง แต่ซ่อนรูปอยู่ในคำว่ารักชาติและรักสถาบัน บัดนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเผด็จการต้องยุติและคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติและประชาชนได้แล้ว การรัฐประหารโดยทหารและตุลาการคือหายนะของประเทศ
ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันพิพากษายึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร 4.6 หมื่นล้าน โดยทาง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยชี้ให้เห็นว่า คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ อดีตภรรยา มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ และการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณตลอดมา โดยผลประโยชน์จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปมาจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นสินสมรส จึงมีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ด้วย
ตามกฎหมาย ปปช. การยึดทรัพย์ทำให้ 2 กรณี คือทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ กับกรณีร่ำรวยผิดปกติโดยได้ทรัพย์สินมาไม่สมควร กรณีนี้เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติโดยเป็นทรัพย์สินไม่สมควร และให้ยึดทรัพย์โดยอิงราคาหุ้นชินคอร์ป ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.2544 ซึ่งเป็นวันที่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯสมัยแรก บวกดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 4.6หมื่นล้านบาท
โดยทาง นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำเอกสารหลักฐาน กว่า 246 หน้า เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อยื่นคำร้องอุทธรณ์คัดค้านในคดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว
ต่อมา ศาลฎีกามีคำวินิจฉัย ถึงกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2549 ได้แจ้งถึงเอกสารเลขที่ สภ.3 (อธ.3)/309/2563 เป็นผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ได้พิจารณาอุทธรณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ฉบับลงวันที่ 25 เม.ย.2560
โดยคำวินิจฉัยนี้แยกย่อยออกมาเป็นหลายประเด็น โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ ผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร นายประภาส สนั่นศิลป์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ ผู้แทนกรมการปกครอง ร่วมลงนามในคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 โดยคำวินิจฉัย ระบุว่า
ให้ยกอุทธรณ์ซึ่งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงาน ลงวันที่ 28 มีนาคม 2560 เป็นเงินทั้งสิ้น 17,629,585,191.00 (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบเก้าล้านห้าแสนแปดหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทถ้วน) ให้ผู้อุทธรณ์นำเงิน ภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ไปชำระ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางพลัด กรุงเทพมหานครเป็นเงิน 17,629,585,191.00 บาท 00 สตางค์(หนึ่งหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบเก้าล้านห้าแสนแปดหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทถ้วน) ภายใน30วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย โดยคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ทำไว้สองฉบับ เก็บไว้ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หนึ่งฉบับ ส่งให้ผู้อุทธรณ์หนึ่งฉบับ ลงวันที่ 1 กันยายน 2563
ในคำวินิจฉัยยังระบุอีกว่า ประเด็นของดหรือลดเบี้ยปรับตามมาตรา22 แห่งประมวลรัษฎากร พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่แท้จริงที่ต้องเสียภาษีอากร แต่ให้นายพานทองแท้ฯ และนางสาวพินทองทาฯ เป็นตัวแทนเชิดในการซื้อหุ้นชินคอร์ปจากแอมเพิลริชฯ นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด จึงมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรและทำให้รัฐเสียประโยชน์ จึงไม่งดหรือลดเบี้ยปรับ
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ ยังมีคดีติดตัวอยู่หลายคดี ไม่ว่าจะเป็นถูกฟ้องศาลฎีกาฯคดีนักการเมืองรวมจำนวน 8 คดีในจำนวนนี้มี 4 คดี คดีถึงที่สุดมีบทลงโทษ ได้แก่
1. คดีร่ำรวยผิดปกติยึดทรัพย์จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท คดีถึงที่สุดโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯไม่อนุญาตอุทธรณ์
2.คดีทุจริตออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว(หวยบนดิน)จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญาคดีถึงที่สุด ออกหมายจับ(อุทธรณ์ไม่ได้)
3.คดีปล่อยเงินกู้เอ็กซิมแบงค์ให้เมียนมา จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา คดีถึงที่สุด -ออกหมายจับ(อุทธรณ์ไม่ได้)
4.คดีแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเอื้อชินคอร์ปฯ จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา คดีถึงที่สุด ออกหมายจับ (อุทธรณ์ไม่ได้)
โดย 2 คดี คือ คดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่คดีนี้ขาดอายุความไปแล้วเพราะหนีคดีเกิน 10 ปี และอีกคดี คือคดีจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินหนี้สินเป็นเท็จ จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและออกหมายจับ
และอีก 2 คดี (คดีถึงที่สุดยกฟ้อง) คือ 1.คดีบริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอมิชอบ คดีนี้ศาลยกฟ้องและคดีถึงที่สุดเนื่องจากองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง ส่วนอีกคดี คือคดีปล่อยเงินกู้กรุงไทยให้เครือกฤษดานคร ศาลยกฟ้อง คดีถึงที่สุดเนื่องจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้อุทธรณ์