จับตาจีนรับมือ!?!”เอเวอร์แกรนด์”ยักษ์อสังหาฯ วิกฤติหนี้ 3 แสนล้าน$ส่อล้ม สะเทือนเสถียรภาพเศรษฐกิจจีน

1216

Evergrande คือ บริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีน เกิดภาวะวิกฤติหนี้ที่ทำเอาตลาดทั่วโลกผวา ส่อล้มละลาย นับเป็นบททดสอบสำคัญของระบบการจัดการเศรษฐกิจการเงินของจีน กับมูลค่าหนี้มหาศาล 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของเอกชน ที่กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ติดหนี้มากที่สุดในโลก ปัจจุบัน Evergrande เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 1,300 โครงการ มากกว่า 280 เมืองในจีน ปัญหาวิกฤตขาดสภาพคล่องของ Evergrande เกิดจากฟองสบู่สินเชื่อที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นผลกระทบจากการขยายตัวเชิงรุกเกินขอบเขต ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลเข้มงวดกฎระเบียบและกำกับดูแลช่องทางการจัดหาเงินทุนเพื่อควบคุมสิ่งผิดปกติ ทำให้เกิดความตึงเครียดด้านสภาพคล่อง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า หนี้ท่วมหัวหมุนไม่ทัน

เป็นตัวอย่างเสรีภาพการก่อหนี้ของทุนนิยมก็ว่าได้ สุดท้ายเมื่อรัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการก่อหนี้อย่างไร้ความรับผิดชอบ ฟองสบู่สินเชื่อแตก มาดูวิธีการรับมือของรัฐบาลจีนว่า จะอุ้มหรือจะปล่อยให้ล้ม แล้วผลกระทบกับสเถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนจะย่ำแย่หรือล่มสลายเพราะยักษ์อสังหาฯตัวนี้หรือไม่?

 

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่ทำให้ทั่วโลกต่างจับจ้องคงหนีไม่พ้น ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่มีนามว่า Evergrande หรือ เอเวอร์แกรนด์ กับภาวะวิกฤติหนี้ก้อนมหึมา 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.99 ล้านล้านบาท (1 ดอลลาร์สหรัฐ= 33.29 บาท) ที่โงนเงนเสี่ยงต่อการล้มละลายและนั่นทำให้ “เอเวอร์แกรนด์” กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ “ติดหนี้” มากที่สุดในโลก 

โดยนักวิเคราะห์หลากสำนักได้ส่งคำเตือนถึงบรรดานักลงทุนทั้งหลายให้ระวังไว้ ด้วยความกังวลว่าอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ “เอเวอร์แกรนด์” ไม่สามารถจ่ายหนี้ก้อนมหึมาได้ ก่อนหน้านี้ ทาง “เอเวอร์แกรนด์” ยอมรับว่ายอดขายอสังหาฯในเดือนกันยายนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หลังเผชิญภาวะตกต่ำมาเป็นเวลาหลายเดือน และนั่นทำให้สถานการณ์ของกระแสเงินสดยิ่งเลวร้ายมากขึ้น เกิดภาพผู้ถือหุ้นและบรรดาเจ้าหนี้รายย่อย บุกทวงหนี้สำนักงานใหญ่ของบริษัทในกรุงปักกิ่ง ยิ่งทำให้กระแส ความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุนขยายใหญ่มากขึ้น

Police officers look at people gathering at the Evergrande headquarters in Shenzhen, southeastern China on September 16, 2021, as the Chinese property giant said it is facing “unprecedented difficulties” but denied rumours that it is about to go under. (Photo by Noel Celis / AFP)

สื่อตะวันตกหลายสำนักถึงขั้นวิเคราะห์กันว่า เอเวอร์แกรนด์จะเป็นตัวบ่อนทำลายเศรษฐกิจจีนอย่างยับเยินอาจขยายเป็นวงกว้างและลุกลามเป็นโดมิโนไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย แต่จีนอาจมองแตกต่างเพราะตัดสินใจดำเนินนโยบายคุมปัจจัยเสี่ยงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ทำไม Evergrand ถึงได้ติดหนี้ก้อนโตขนาดนี้ได้??

“เอเวอร์แกรนด์” คือ บริษัทที่มีธุรกิจหลักด้านอสังหาริมทรัพย์ และเดิมมียอดขายมากเป็นอันดับ 2 ของผู้พัฒนาอสังหาฯในจีน รวมๆ แล้วเป็นเจ้าของมากกว่า 1,300 โครงการ มากกว่า 280 เมืองในจีน และยังมีสาขาเพื่อคอยให้การบริการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เกือบ 2,800 โครงการ มากกว่า 310 เมืองในจีนอีกด้วย

ส่วนธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากอสังหาฯ ทาง  เอเวอร์แกรนด์แตกไลน์ธุรกิจถึง 7 อย่างด้วยกันในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า, การให้บริการการดูแลสุขภาพ, สินค้าอุปโภคบริโภค, โปรดักชันผลิตสื่อวิดีโอและสื่อโทรทัศน์ และสวนสนุก เป็นต้น บริษัทฯมีพนักงานภายใต้การดูแลกว่า 2 แสนคน และสร้างงานแต่ละปีมากกว่า 3.8 ล้านตำแหน่ง

เพราะการลงทุนอย่างก้าวกระโดดในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ทั่วเอเชีย ทั้งที่เป็นหุ้นและพันธบัตรทำให้เมื่อจู่ๆ ยักษ์ใหญ่อสังหาฯ อย่าง “เอเวอร์แกรนด์” เกิดสะดุด และมีท่าทีจะล้มมิล้มแหล่อยู่ในตอนนี้ ก็ทำนักลงทุนหวาดผวาไปตามๆ กัน เกิดการจับตากระแสข่าวอย่างใกล้ชิดไปทั่วโลก

วิกฤตสภาพคล่องเกิดเพราะฟองสบู่สินเชื่อแตก

เมื่อ”รัฐบาลจีน” ออกมาตรการเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2563) ต้องการจะลดหนี้สาธารณะกับหนี้เอกชนเพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพ จึงได้ให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไปลดหนี้ลง

เอเวอร์แกรนด์เริ่มเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วงที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว (2563) เหตุก็เพราะ “รัฐบาลจีน” จัดกฎระเบียบใหม่เพื่อควบคุมต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ และการกู้ยืมของบรรดาผู้พัฒนาอสังหาฯทั้งหลาย โดยมาตรการต่างๆ เหล่านั้นครอบคลุมหนี้ที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสด รวมถึงระดับสินทรัพย์และทุนด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือ หุ้นของเอเวอร์แกรนด์ในตลาดฮ่องกง จนถึงปัจจุบันราคาลงหนักเกือบ 80% ขณะเดียวกัน ช่วงหลายสัปดาห์ตลาดหลักทรัพย์จีนหยุดการซื้อขายพันธบัตรชั่วคราวหลายครั้ง

ดูจีนรับมือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์อย่างไร กับกรณีเอเวอร์กรีน!!

นักวิเคราะห์มองตรงกันว่าความเป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้ คือ”การปรับโครงสร้างหนี้” เพื่อเข้าเทคโอเวอร์บรรดาโครงการของ “เอเวอร์แกรนด์” ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ด้วยวิธีการอย่างการแลกเปลี่ยนหุ้นของธนาคารที่ดิน(Land Bank)

ล่าสุดเมื่อวานนี้ 19 ก.ย.2564 เอเวอร์แกรนด์เริ่มแผนการชำระคืนหนี้โดยเสนออสังหาริมทรัพย์สำหรับนักลงทุน เพื่อเป็นทดแทนการค้างชำระเงินแก่นักลงทุนหลายร้อยคนจากทั่วประเทศจีน ที่มุ่งหน้าไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทในเซินเจิ้นเพื่อเรียกร้องการชำระคืนเงินลงทุนของพวกเขา ซึ่งอาจรวมกันได้มากถึง 4 หมื่นล้านหยวน ( 6.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 

การชำระคืนสามารถทำได้ผ่านการผ่อนชำระเป็นเงินสด ทรัพย์สิน หรือเพิ่มผลประโยชน์ให้เจ้าหนี้นักลงทุนที่ได้ซื้อหน่วยที่อยู่อาศัยไปแล้ว ตามแผนประกาศโดยดู เหลียง (Du Liang) หัวหน้าหน่วยบริหารความมั่งคั่งของเอเวอร์แกรนด์ ทั้งนี้นักลงทุนสามารถรับส่วนลด 28 ถึง 52 เปอร์เซ็นต์จากราคาปัจจุบัน หากพวกเขาเลือกโครงการของเอเวอร์แกรนด์ เช่น อพาร์ตเมนต์ ร้านค้า รวมพื้นที่จอดรถ

เฉิน เหมิง ผู้อำนวยการ Chanson & Co ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนในปักกิ่ง (Shen Meng, director of Chanson & Co., a Beijing-based boutique investment bank)กล่าวว่า “สำหรับนักลงทุน อพาร์ทเมนท์ไม่ได้มีสภาพคล่องเท่าเงินสด แต่ก็ยังมีมูลค่าเพียงพอ ดังนั้นทางเลือกอาจไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้แย่ที่สุดเช่นกัน” เฉินย้ำว่า“เอเวอร์แกรนด์ยังคงมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่มากพอที่จะครอบคลุมหนี้สิน ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงในขั้นตอนปัจจุบัน”

ขณะเดียวกันธนาคารกลางจีน ( PBOC) ได้เพิ่มเงินทุนจำนวน 9 หมื่นล้านหยวนหรือ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นครั้งแรกในเดือนนี้ที่เพิ่มสภาพคล่องในระบบระยะสั้นเข้าสู่ระบบธนาคารในวันเดียว ทำให้ความกังวลต่อวิกฤตการเงินในภูมิภาคลดลง แม้ว่า บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุด อันดับ 2 ของจีนประสบปัญหาสภาพคล่องลดลง และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้  นักวิเคราะห์มองประเด็นดังกล่าวยังมีน้ำหนักน้อย เพราะมูลหนี้ของ Evergrande ทั้งหมดประมาณ 3.56 แสนล้านเหรียญ คิดเป็นเพียง 2% ของ GDP จีน นอกจากนี้กรณีแย่สุด หากมูลค่าหนี้มหาศาล ของ Evergrande กลายเป็น NPL ทั้งหมด จะทำให้สัดส่วน NPL ของจีนเพิ่มจาก 2% เป็น 2.1%-2.15%เท่านั้น