‘ดร.สามารถ’โวยรัฐบาล!! อย่าปล่อยผ่านทางคู่เหนือ-อีสาน กังขาเกณฑ์ประมูลส่อล็อกสเป็ก??

1212

เมื่อวานนี้วันที่ 19 ก.ย.2564 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมขนส่งระดับมหภาคได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte โดยมีเนื้อหาท้วงติงไปยังรัฐบาลที่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อิสานที่ยังค้างคาใจสาธารณชนดังนี้

อย่าปล่อยให้ทางคู่เหนือ-อีสานผ่าน

แบบ “ค้านสายตา”

มีการเสนอข่าวว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานที่กำลังถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการฯ ที่ท่านนายกฯ แต่งตั้งขึ้นมาอาจจะได้เดินหน้าต่อ ทั้งๆ ที่ยังมีข้อกังขาค้างคาใจของประชาชนทั้งประเทศ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การประมูลโครงการอื่นในอนาคต คงได้เห็นราคาประมูลเฉียดฉิวราคากลางดังเช่นการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานกันอีกแน่นอน

ข้อกังขามีอะไรบ้าง?

การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 72,918 ล้านบาท และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 55,456 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมด 128,374 ล้านบาท สร้างความกังขาให้กับประชาชนทั้งประเทศ ดังนี้

  1. จำนวนสัญญาการประมูลเท่ากับจำนวนผู้รับเหมาขนาดใหญ่พอดี

สายเหนือแบ่งการประมูลออกเป็น 3 สัญญา ส่วนสายอีสานแบ่งออกเป็น 2 สัญญา รวมเป็น 5 สัญญา เท่ากับจำนวนผู้รับเหมาขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าประมูลได้พอดี ซึ่งในการประมูลที่เกิดขึ้นก็มีผู้รับเหมาขนาดใหญ่เข้าประมูล 5 ราย และชนะการประมูลทุกราย

  1. ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเท่ากัน

2.1 สายเหนือ ประมูลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ราคากลาง 72,918 ล้านบาท ราคาที่ได้จากการประมูล 72,858 ล้านบาท นั่นคือประหยัดค่าก่อสร้างได้เพียง 60 ล้านบาท เท่านั้น คิดเป็น 0.08%

2.2 สายอีสาน ประมูลเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564ราคากลาง 55,456 ล้านบาท ราคาที่ได้จากการประมูล 55,410 ล้านบาท นั่นคือประหยัดค่าก่อสร้างได้แค่ 46 ล้านบาท เท่านั้น คิดเป็น 0.08% เท่ากันกับสายเหนืออย่างน่ากังขายิ่ง

นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการตรวจสอบ

จากความกังขาที่เกิดขึ้นทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือ-สายอีสานขึ้นมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2564

คณะกรรมการฯ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล แม้ผลการตรวจสอบยังไม่เป็นที่เปิดเผย แต่กลับมีกระแสข่าวออกมาว่ามีสัญญาณที่ดีต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย นั่นคือได้เดินหน้าต่อ ไม่ต้องประมูลใหม่

ผมไม่เชื่อข่าวดังกล่าวจนกว่าจะได้รับฟังจากท่านนายกฯ หรือคณะกรรมการฯ แต่อยากฝากให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบการคัดค้านขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) โดยผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม

ผู้สังเกตการณ์คัดค้านอะไร?

ในการประมูลรถไฟฟ้าทางคู่สายเหนือและสายอีสาน การรถไฟฯ ได้ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้เข้าร่วมประมูล และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ข้อตกลงคุณธรรมเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างการรถไฟฯ กับผู้เข้าร่วมประมูลว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการประมูล โดยมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (ร่างทีโออาร์) ร่างประกาศเชิญชวน จนถึงขั้นตอนสิ้นสุดการประมูล

ผู้สังเกตการณ์เป็นบุคคลภายนอกหรือภาคประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ และประสบการณ์ซึ่งจำเป็นต่อการประมูลรถไฟทางคู่ และจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับการประมูล

ทราบมาว่าผู้สังเกตการณ์ต้องการให้การรถไฟฯ แยกงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานก่อสร้างทางรถไฟเช่นเดียวกับการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ ซึ่งได้ผลดี ทำให้การรถไฟฯ สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้ 5.66% ของราคากลาง แต่การรถไฟฯ ไม่ยอมทำตาม

เหตุใดการรถไฟฯ จึงไม่ทำตามข้อเสนอแนะของผู้สังเกตการณ์? หากคำชี้แจงของการรถไฟฯ ฟังไม่ขึ้น หรือมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้ ผู้สังเกตการณ์จะต้องรายงานต่อ ACT เพื่อให้ ACT รายงานต่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) พิจารณาดำเนินการต่อไป

 

สรุป

ผมไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ในทางกลับกันผมต้องการให้การรถไฟฯ เร่งลงมือก่อสร้าง เพราะเห็นว่ารถไฟทางคู่จะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ รถไฟทางคู่จะผลักดันการขนส่งของประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบราง

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะออกมาอย่างไร จะให้เดินหน้าต่อหรือจะให้ประมูลใหม่ จะต้องหาทางทำให้การรถไฟฯ ประหยัดค่าก่อสร้างได้อย่างน้อย 5.66% ของราคากลาง (เท่ากับการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้) ซึ่งคิดเป็นเงิน 7,266 ล้านบาท ไม่ใช่ 0.08% ของราคากลาง ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 106 ล้านบาทเท่านั้น ดังที่ได้จากการประมูลที่น่ากังขาและฉาวโฉ่

“มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานในการประมูลที่สร้างความกังขาให้กับประชาชนว่าเป็นการสมยอมราคา (ฮั้ว) กันหรือไม่? แต่ถ้าภาครัฐมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะค้านกับสายตาของประชาชน และขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้รัฐและประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการประมูล”

ทั้งหมดนี้ ขอฝากความหวังไว้ที่กรรมการทุกท่าน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเรียกร้องจากดร.สามารถที่เกาะติดปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด จากนี้คงต้องจับตาคณะกรรมการตรวจสอบกันต่อไปว่า จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร???