บีทีเอสชี้ รฟม.ประมูลสายสีส้มล่าช้าเปิดประมูลไม่ทัน เพราะยังอยู่ในกระบวนการศาลเพิ่ม 3 คดี หลังศาลปกครองสูงสุดจำหน่ายคดีบางส่วน รอนัดไต่สวนวันนี้ 16 ก.ย.2564 ด้านรฟม.ไม่รอศาลตัดสินเผยไทม์ไลน์รอบใหม่ เล็งเปิดประมูล ต.ค.2564 ยืนยันไม่กระทบเปิดให้บริการสายตะวันออกช่วงกลางปี 2568 เพราะฝั่งนั้นก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว
ก็ต้องลุ้นกันไปว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยจะจัดการพฤติกรรมส่อทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างราชการกับเอกชน ได้ทันต่อสถานการณ์หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างไม่สนใจ ไม่เกรงอาญาแผ่นดินยังคงเดินหน้าดื้อดึงเชื่อว่ามีสิทธิ์ทำได้เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีก 3 คดี ประกอบด้วย
1.คดีความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของศาลปกครองกลาง
2.คดีกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และคณะกรรมการมาตรา 36 ยกเลิกการประกวดราคาโดยมิชอบ ของศาลปกครองกลาง และ
3.คดีฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันรอนัดไต่สวนของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯจะนัดไต่สวนอีกครั้งวันนี้ (16 ก.ย.2564) เนื่องจากที่ผ่านมาติดปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
“เรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องการจำหน่ายคดีที่บริษัทฟ้องศาลปกครองถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน(ทีโออาร์)ของรฟม. ซึ่งเป็นการจำหน่ายคดีเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา รฟม. ได้ยกเลิกการประมูลรอบแรกแล้ว หากอีก 2 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางถึงขั้นการพิจารณาส่งต่อศาลปกครองสูงสุด ผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการต่อไป”
ด้านการเตรียมความพร้อมของบริษัทสำหรับคดีรอนัดไต่สวนของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ปัจจุบันทีมทนายบริษัทมีการเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ส่วนคดีสายสีส้มจะได้ข้อสรุปเมื่อไรนั้น เราทราบว่าที่ผ่านมารฟม.แจ้งว่าหลังมีการยกเลิกการประมูลรอบแรกแล้วจะดำเนินการเปิดประมูลรอบใหม่ หากไม่ดำเนินการยกเลิกประมูลในรอบแรกจะทำให้เสียเวลา แต่เราเชื่อว่าภายในปีนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังเปิดประมูลไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเลยกำหนดระยะเวลาที่รฟม.เคยแจ้งแล้ว ซึ่งบีทีเอสมองว่าโครงการนี้ที่เราประเมินสถานการณ์ไว้มันเป็นการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่สามารถหลบหลีกหรือเลี่ยงเส้นทางในการเร่งรัดโครงการฯได้ หากรฟม.จะใช้หลักเกณ์การประประกวดราคารอบใหม่ควรยึดพื้นฐานจากประโยชน์ของภาครัฐและควรมีการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
มาดูคำฟ้อง ‘BTSC’ ฟ้องศาลทุจริตฯกล่าวหา ‘ผู้ว่าฯรฟม.-พวก’ รวม 7 คน กระทำผิด ‘ม.157-ม.165’ คดีแก้ไขทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ขณะที่ศาลฯนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องนัดแรก 15 มี.ค. และนัดหลังในวันนี้ 16 ก.ย.2564
สืบเนื่องจากกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนงานโยธาฝั่งตะวันตกและเดินรถตลอดเส้นทาง ซึ่ง รฟม. และผู้เกี่ยวข้องได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก หลังจากเอกชนได้ซื้อซองประมูลแล้ว โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง BTSC ได้ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม. ระงับการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 รฟม. กลับทำการยกเลิกการประมูล ส่งผลให้ BTSC ผู้ยื่นซองข้อเสนอได้รับความเสียหาย จึงต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 ไว้ไต่สวนมูลฟ้อง โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นจำเลยที่ 1
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นจำเลยที่ 2 ,นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 3 ,นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ อธิบดีอัยการ ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 4
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ผอ.สคร.) กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 5 ,นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 6 และนายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 7
ทั้งนี้ BTSC กล่าวหาว่านายภคพงศ์ และพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165
และการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมิน ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอนุมัติตามที่คณะกรรมการ PPP เสนอ คือ รัฐต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด (NPV ต่ำสุด) จะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก และเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาคัดเลือกฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกและประกาศใช้แล้ว
ล่าสุดวันนี้วันที่ 16 ก.ย.2564 นัดฟังคำสั่งศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบพิจารณา
ความล่าช้าของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทำให้ประชาชนเสียโอกาสและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากการประเมินรฟม.เองถ้าก่อสร้างล่าช้า 1 ปีจะเกิดความเสียหาย 43,000 ล้านบาท ขณะนี้ล่าช้ามาครบ 1 ปีแล้วผู้บริหารรฟม.จะรับผิดชอบอย่างไร ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการคัดเลือกฯต่างพากันลาออกเป็นระยะ ส่งสัญญาณบอกว่าการประมูลอื้อฉาวนี้ขาดความชอบธรรมหรือไม่ คนไทยตั้งตารอฟังศาลตัดสินอย่างใจจรดจ่อ!!