หมอยงวิเคราะห์สถานการณ์โควิดในไทย การติดเชื้อ กักตัว อะไรเบาใจได้-อะไรยังน่าห่วง

2204

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19” ดังนี้…

“โควิด 19 ระยะฟักตัวของโรค กับ การกักกันป้องกันการติดเชื้อ

ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2 ถึง 7 วัน ส่วนน้อยจะอยู่ที่ 7-14 วัน และส่วนน้อยมากๆจะอยู่ในสัปดาห์ที่ 3 คือ 15 ถึง 21 วัน ดังแสดงในรูป

การกักกันตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โควิด 19 จึงขึ้นอยู่กับสภาวะและสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ในประเทศจีน ไม่ต้องการให้มีเชื้อเลยแม้แต่รายเดียว จีนก็จะใช้มาตรการเต็มที่ในการกักกัน ถึง 21 วัน เพื่อไม่ให้เชื้อ โควิด 19 รอดออกมาได้ จีนเป็นประเทศที่พึ่งพาตัวเอง และมีเศรษฐกิจเป็นบวก ถึงแม้จะปิดประเทศ

ประเทศไทยเรายังถือเอา 14 วัน เพราะว่าส่วนใหญ่ก็สามารถควบคุมได้ดีแล้ว ทางตะวันตกที่มีการระบาด บางแห่งถ้ามีมาตรการวินิจฉัยอย่างดี ก็จะเอาที่ 7 วัน และบางแห่งก็ไม่ต้องมีการกักกันตัวเลย เช่น คนไทยจะไปอังกฤษ ก็ไม่จำเป็นต้องถูกกักกันตัวเพราะถือว่ามาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ

การจะกักกันควบคุมกี่วัน ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบ เช่น ถ้าเรามั่นใจว่าเดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำมากๆ เช่น ประเทศจีน นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ในปัจจุบัน ก็อาจใช้ระยะเวลาการกักกันตัวให้สั้นลง เช่น 10 วัน ตรวจเชื้อวันสุดท้ายก่อนออก เพราะขณะนี้การตรวจเชื้อครั้งที่ 2 เฉลี่ยอยู่ในวันที่ 12 อยู่แล้ว และใช้มาตรการอื่นในการติดตาม ความเสี่ยง การแพร่กระจายเชื้อ ให้อยู่เฉพาะบริเวณ และมีการตรวจเชื้อซ้ำ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาติดต่อของโรค

ปัจจุบันวิธีการตรวจมีความไวสูงมาก และทำได้เร็วขึ้น ตรวจเช้าได้เย็น มีห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

หลักการและเหตุผลต่างๆ จะอ้างอิงตามหลักวิชาการ เพื่อลดการกระจายของ โควิด 19 มาสู่ประชากรไทยให้น้อยที่สุด

ในระยะยาวกว่าจะมีวัคซีน ที่รู้แน่ชัดว่าใช้ป้องกันโรคได้ และมีใช้ในประเทศไทย

เราคงต้องมีทุกมาตรการ ตั้งแต่ลดการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย และคนไทยทุกคนช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศ ด้วยการดำรงชีวิตแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด

ในระยะยาวจะต้องอยู่บนจุดสมดุล ที่ทุกคนจะต้องอยู่ได้

เหตุการณ์นี้เคยเปรียบเสมือนวิ่งมาราธอน เรายังวิ่งมาไม่ถึงครึ่งทางจึงต้องมีการผ่อนหนักผ่อนเบา เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้”