Truthforyou

ย้อนรอยชุมนุม 19 กันยา แกนนำโดนคดี-ติดคุกอ่วม! จับตาครบ 1 ปี “ณัฐวุฒิ” ซ้ำรอยกลับเรือนจำ?

ย้อนรอยชุมนุม 19 กันยา แกนนำโดนคดี-ติดคุกอ่วม! จับตาครบ 1 ปี “ณัฐวุฒิ” ซ้ำรอยกลับเรือนจำ?

จากกรณีที่วันนี้ (14 กันยายน 2564) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ ได้โพสต์ข้อความ นัดชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนที่กำลังจะถึงนี้ เวลา 14.00 น. โดยจะมีการจัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบกลางกรุงเทพฯ ยกระดับไล่ประยุทธ์

ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยใช้ชื่อว่า “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” โดยกลุ่มแกนนำพร้อมทีมงาน ได้นัดรวมตัวกันที่หน้าประตู มธ. ก่อน ประตูฝั่งสนามหลวง ทางเข้าตึกนิติศาสตร์ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ จากนั้นกลุ่มการ์ดและแกนนำก็ใช้คีมตัดประตูและเข้าไปที่สนามฟุตบอลในมหาวิทยาลัย จากนั้นจะใช้รถเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีเล็ก หันหน้าไปทางหอประชุม เพื่อปราศรัยรอมวลชน

 

เวลาประมาณ 15.00 น. แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุม “เตรียมเคลื่อนพล” ไปสนามหลวง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งเวทีใหญ่บริเวณสนามหลวงในส่วนที่เป็นพื้นปูนฝั่ง มธ. ขณะที่สนามหลวงเริ่มมีประชาชนมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามมาเจรจาให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ตำรวจแจ้งกับผู้ชุมนุมว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชม. “แต่การชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง…ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่การรักษาความสงบเรียบร้อย และความสะดวกของประชาชนในการดูแลชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบ และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย อาศัยตามอำนาจมาตรา 27 (1) แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมภายใน 1 ชม.นับจากนี้” ตำรวจกล่าว

ทั้งนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ตั้งแถวพร้อมเหล็กกั้น และมีป้ายข้อความติดไว้ว่า “ระยะ 150 เมตร เขตห้ามชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ” ซึ่งกำหนดไว้ว่าห้ามชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน

โดยการชุมนุมในวันนั้น มีการตั้งเวทีใหญ่ ยาว 15 เมตร หันหน้าเข้าศาลฎีกา มีการพูดถึงข้อเรียกร้อง 10 ข้อ มีการปราศรัยที่ใช้เนื้อหาไปในทำนองโจมตีการรัฐประหาร รัฐบาล และกองทัพ อีกทั้งยืนยันข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ

การปราศรัยที่บริเวณท้องสนามหลวง มีแกนนำคนสำคัญสลับกันขึ้นปราศรัย เริ่มจากนายอานนท์ นำภา แล้วตามด้วย น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายภาณุพงศ์จาดนอก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ปิดท้าย และปิดเวทีเมื่อ 03.00 น. นอกจากนี้ แกนนำผู้ชุมนุมประกาศบนเวทีท้องสนามหลวงว่า มีผู้ชุมนุมช่วงสูงสุดถึงกว่า 2 แสนคน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่าไม่เกิน 5 หมื่นคน ซึ่งผู้ปราศรัยหลายคนได้กล่าวขอบคุณ “พี่น้องเสื้อแดง” จากทั่วประเทศที่มาร่วมชุมนุม

สำหรับวันที่ 20 กันยายน ทางแกนนำ ตื่นนอน 05.00 น. มีกิจกรรมตอนเช้า 06.00 น. นั่นก็คือ การปักหมุดราษฎร ทำจากทองเหลือง ขนาด 11 นิ้ว กลางพื้นที่สนามหลวง

จากการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 63 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้นัด 18 แกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรฟังคำสั่งในคดีที่ตกเป็นผู้ต้องหาในการชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19 – 20 ก.ย.63 หลังจากเลื่อนการนัดฟังคำสั่งมาจากวันที่ 17 ก.พ.64 โดยอัยการระบุว่าจะมีคำสั่งฟ้องคดีทั้งหมดและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทันที

สำหรับผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 มี 3 คนคือ1. รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 2. ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 3. ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก

ขณะที่ ผู้ต้องหาอีก 15 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหลักคือ มาตรา 116 และมาตรา 215 ของประมวลกฎหมายอาญา ผู้ต้องหาทั้ง 15 คนประกอบด้วย 1. อรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) 2. ชินวัตร จันทร์กระจ่าง(ไบร์ท เมืองนนท์) 3. ชูเกียรติ แสงวงศ์ 4. ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (แอมป์) 5. ณัทพัช อัคฮาด 6. ธนชัย เอื้อฤาชา 7. ธนพ อัมพะวัต 8. ธานี สะสม 9. ภัทรพงศ์ น้อยผาง10. สิทธิทัศน์ จินดารัตน์ 11. สุวรรณา ตาลเหล็ก 12. อะดิศักดิ์ สมบัติคำ 13. อนุรักษ์ เจนตวนิชย์(ฟอร์ด เส้นทางสีแดง) 14. ณัฐชนน ไพโรจน์ 15. ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ (แอมมี่)

ผู้ต้องหาทั้งหมดเสี่ยงถูกขังขณะพิจารณาคดี เพราะก่อนหน้านี้ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์, สมยศ, พริษฐ์ และปติวัฒน์

นอกจากนี้ ในการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าพร้อมทีมงาน เดินทางมาบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อให้กำลังใจกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเป็นการเดินเยี่ยมชม เพื่อประกาศชัยชนะ เพราะสนามหลวงได้กลับมาเป็นพื้นที่ของราษฎรอย่างแท้จริง หลังจากก่อนหน้านี้ มีการไม่ให้เข้าพื้นที่จัดการชุมนุม

หลังจากที่นายธนาธร เดินเยี่ยมชมสนามหลวง เปิดใจว่า ข้อกล่าวหายืนยันว่าไม่จะได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการชุมนุมครั้งนี้ ของกลุ่มนักศึกษามีความคิด และรับรู้ปัญหากับเมืองไทยมาโดยตลอด แต่ก็ย้ำว่าการเรียกร้องครั้งนี้ กลับท้าทายสังคมไทยอย่างมาก เพราะเป็นเงื่อนไขการชุมนุม ให้ทั้งการให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนกับสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ  การชุมนุมครั้งนี้เป็นการพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล อย่างอารยธรรม ไม่ได้เป็นการล้มล้างทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เข้าใจ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม จากการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อปี 2563 แกนนำคนสำคัญ เช่น อานนท์ นำภา,ไมค์ ภาณุพงศ์,เพนกวิน พริษฐ์ ขณะนี้ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ และยังมีแกนนำอีกหลายคนที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จากการชุมนุมในครั้งนี้ ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งครบรอบ 1 ปี แกนนำที่ยังอยู่ข้างนอกจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร และจะเข้าร่วมชุมนุมกับนายณัฐวุฒิหรือไม่หรือจะแยกจัดชุมนุมคู่ขนานก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

Exit mobile version