เอาจริงไม่ได้ขู่! เปิดแผน “บช.น.” ยกระดับคุมเข้มสื่อ จัดการ “ทะลุแก๊ส” กวาดเกลี้ยงครึ่งร้อย

1699

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.) เปิดเผยว่า ในทุกวันยังคงมีการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดงอย่างต่อเนื่อง

 

ที่ผ่านมายังคงพบมีการก่อความวุ่นวาย และละเมิดกฎหมายหลายข้อหา ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)มีการบันทึกภาพและเสียง เพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิดทุกคนมาดำเนินคดีตามกฎหมาย จากการสืบสวน คาดว่าน่าจะออกหมายจับผู้สนับสนุน หรือร่วมนำอาวุธอุปกรณ์ต่าง ๆ มาส่ง มาจำหน่าย และนำมาใช้ในการชุมนุมได้ภายในสัปดาห์หน้า อย่างน้อย 3 คน แต่ยังไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงถึงกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งจะเร่งจัดการปิดเกมแยกดินแดง

นอกจากนี้ยังมีรายงานการคุกคามสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่การชุมนุมนั้น ขอให้ใช้ความระมัดระวังตัวเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพราะจากการข่าวพบว่า อาจมีการทำร้ายสื่อมวลชน หวังผลให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย หลังพบมีการปลอมตัวหรือแฝงตัวอยู่ในกลุ่มสื่อมวลชน หรืออาสาสมัครทางการแพทย์ เพื่อก่อความวุ่นวาย หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่

ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เริ่มยกระดับการคุมเข้มพื้นที่แยกดินแดงมากขึ้น สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้หลายสิบราย โดยทางด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความว่า ได้รับการรายงานว่า มีผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ11กันยา บริเวณแยกดินแดง ทั้งหมด 51 ราย แบ่งออกเป็น เยาวชน 6 ราย ถูกนำตัวไปสน.พหลฯ ผู้ใหญ่ 23 รายถูกนำตัวไปบช.ปส และอีก 22 รายถูกนำตัวไปที่สน.ดอนเมือง

ทั้งนี้ยังมีการตรวจอย่างเข้มงวดกับสื่อมวลชนที่เข้ามายังพื้นที่ และมีการสั่งห้ามไลฟ์สดในบางช่วง ทำให้เห็นว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มส่งสัญญาณรุกหนักกับกลุ่มทะลุแก๊สมากขึ้น ขณะที่ผลซูเปอร์โพล ก็เปิดเผยว่า ประชาชนอยากเห็นตำรวจจัดการม็อบก่อความรุนแรงอย่างเด็ดขาด เพราะเริ่มเบื่อกับการสร้างความแตกแยก

โดยทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง เสียงประชาชนต่อม็อบที่รุนแรง กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,002 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.0 ระบุการชุมนุมเริ่มไม่มีความชัดเจนและไม่เห็นมีประโยชน์อะไรต่อส่วนรวม, ร้อยละ 96.1 ระบุมีกลุ่มการเมืองเชื่อมโยงแกนนำ แตกกลุ่มย่อยสาขาชักชวนคนมาเคลื่อนไหว สร้างเงื่อนไขความรุนแรงและขยายผลปั่นกระแสผ่านเครือข่าย

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.1 ต้องการให้ตำรวจใช้กฎหมายจัดการเด็ดขาด หยุดม็อบรุนแรง ละเมิดคุกคามเบียดเบียนผู้อื่น สร้างความเดือดร้อน ส่งผลผู้ไม่เกี่ยวข้องบาดเจ็บ ทำลายทรัพย์สินส่วนรวม, ร้อยละ 97.0 ต้องการให้ฝ่ายความมั่นคงเห็นความสำคัญกับการรักษาความสงบสุขของบ้านเมืองและความปลอดภัยของประชาชนส่วนรวมมากกว่า โดยให้เด็ดขาดจับกุมต้นตอผู้อยู่เบื้องหลังสนับสนุน อาวุธ และปลุกปั่นม็อบ, ร้อยละ 96.5 รู้สึกเบื่อหน่ายม็อบปิดพื้นที่และปิดถนนใช้ความรุนแรง สร้างความเดือดร้อนประชาชนรายวัน