“เทพไท” พูดเองบัตร2ใบ!! พท.ได้ประโยชน์สูงสุด ชี้ลต.ใหม่ได้สส.เพิ่มแน่ แต่ปชป.แทบไม่ได้อะไรเลย?
จากที่วันนี้ 10 กันยายน 2564 มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91) วาระที่สาม ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ผลการลงมติของรัฐสภา ผลการลงคะแนนปรากฎว่าได้ ที่ประชุมมีมติให้ความ “เห็นชอบ” ทั้งในส่วนของส.ส.ที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เสียงจากส.ว.ที่ล่าสุดเกินจำนวน1ใน3หรือ84เสียง รวมถึงเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน 20% หรือ 45 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไปเป็นที่เรียบร้อย จึงถือว่าที่ประชุมให้ความ “เห็นชอบ” รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข
ล่าสุดทางด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วิเคราะห์การเมืองหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยระบุข้อความว่า
กติกาเลือกตั้งใหม่ พรรคใดได้ พรรคใดเสีย วิเคราะห์ ให้เห็นชัดๆรายพรรค หลังจากที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบและมี ส.ส.ระบบเขต จำนวน 400 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คนนั้น ยังเป็นที่ค้างคาใจ ของสมาชิกรัฐสภาบางส่วน บางพรรค บางกลุ่ม ที่อาจจะใช้สิทธิ์ยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถ้าหากมีคำวินิจฉัยว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการบังคับใช้ในการเลือกตั้ง ครั้งต่อไป ซึ่งมีพรรคการเมือง ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะมีดังนี้ คือ
1.พรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์ จากกติกาใหม่นี้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาการใช้บัตรใบเดียว ทำให้พรรคเพื่อไทยมีเฉพาะ ส.ส.ระบบเขตเท่านั้นไม่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเลย เมื่อแก้ไขกติกาใหม่ ก็จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 30-40 คน
2.พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคการเมืองใหญ่ ก็จริงแต่จะได้รับประโยชน์จากกติกาใหม่ไม่มากนัก เพราะการใช้กติกาเก่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้กับ พรรคพลังประชารัฐมากที่สุด เพราะสามารถเอาชนะในระบบเขตมาแล้ว และมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากพอสมควรในการแก้กติกาใหม่ ไม่มีรับประกันว่า พรรคพลังประชารัฐ จะมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่อาจจะประเมินภายในพรรคว่า เมื่อตอนนี้เป็นพรรคขนาดใหญ่แล้ว ถ้าใช้กติกาเก่าอาจจะมีผลกระทบต่อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเหมือนกับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
3.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเจ้าของร่างแก้ไขธรรมนูญในครั้งนี้ ที่พยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการร่วมรัฐบาล แต่จะไม่มีได้รับประโยชน์จากกติกาใหม่มากนัก เพราะพรรคประชาธิปัตย์ จะเลือกตั้งในระบบบัตร 2 ใบหรือบัตรใบเดียว ก็จะไม่มีผลกระทบต่อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากนัก เพราะเป็นพรรคการเมิองเก่าแก่ มีฐานเสียงค่อนข้างแน่นอน
4.พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมือง ที่เน้นตัวผู้สมัครระบบเขตเป็นหลัก ทำให้คะแนนของพรรคมีน้อย ถ้าใช้ระบบบัตรใบเดียว ก็จะมีคะแนนจากผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต มารวมกัน ทำให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากขึ้นตามมาด้วย แต่เมื่อกติกาใหม่เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็จะมีผลกระทบต่อจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออย่างแน่นอน
5.พรรคก้าวไกล ในกติกาใหม่ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า จะเป็นผลดี หรือผลเสียกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลมุ่งเน้นสร้างกระแสพรรคเป็นหลัก ถ้าประชาชนศรัทธาในแนวทางของพรรคก้าวไกล จะทำให้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากขึ้นโดยปริยาย เพราะ ส.ส.ระบบเขต จะเป็นคนหน้าใหม่ มีโอกาสได้รับเลือกตั้งน้อย เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะไม่เสียเปรียบในกติกาใหม่
6.พรรคการเมืองขนาดเล็ก จะมีผลกระทบโดยตรง ต่อจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออย่างแน่นอน ถ้าหากออกระเบียบใช้เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ ในการคิดจำนวนระบบบัญชีรายชื่อด้วย ยิ่งทำให้ ส.ส.ปัดเศษ หรือมีคะแนนรวมไม่ถึงเกณฑ์ จะไม่มีที่นั่งของ ส.ส.ในสภาเลย
7.พรรคการเมืองตั้งใหม่ จะมีฐานคะแนนของพรรคน้อย จะมีโอกาสได้ ส.ส.ระบบเขต ที่มีตัวผู้สมัครโดดเด่นเท่านั้นส่วนคะแนน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะมีจำนวนน้อย
เมื่อมีการแก้กติกาการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และมีวิธีการคิดจำนวนที่นั่ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ปี2540 ย่อมมีผลการได้เปรียบ เสียเปรียบในระหว่างพรรคการเมืองต่างๆเกิดขึ้นแน่อน แต่ถ้ามีการใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แต่ใช้วิธีคิดจำนวนที่นั่งสัดส่วนผสม เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็จะไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองมากนัก
เมื่อกติกาการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนใหม่ ทำให้ทฤษฎีแตกแบงก์ย่อย หรือตั้งพรรคสาขาหมดไป ดังนั้น แนวโน้มและสถานการณ์การเมืองของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคใดได้ พรรคใดเสีย ก็น่าจะพอมองเห็นอนาคตกันบ้าง